นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา เปิดเผยว่าการดำเนินงานของศูนย์ FLEC ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดสงขลา ช่วยลดการเอาเปรียบแรงงาน แรงงานมีศูนย์รวมในการขอคำปรึกษาในการทำงาน สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน
ขณะที่ บุตรหลานของแรงงานยังได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้รับความรู้และฝึกทักษะที่เหมาะสมของเด็ก เป็นการป้องกันการใช้แรงงานเด็กควบคู่กัน
ขณะเดียวกัน แรงงานประมงและครอบครัวมีสุขภาวะดีขึ้น ได้เข้าถึงยารักษาโรคพื้นฐาน และมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ศูนย์ FLEC ได้มีส่วนช่วยให้แรงงานและครอบครัวได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งการดูแลสุขภาพและเข้าถึงวัคซีน
ขณะที่ การส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ช่วยให้แรงงานมีอาหารปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงวิกฤติ ที่สำคัญ แรงงานยังตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม สนับสนุนให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ CPF ได้เข้าสนับสนุนและจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นระหว่าง 7 องค์กรพันธมิตร เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย ของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2564-2568)สำหรับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการปัญหาขยะในทะเลต่อไป
โดยขยายความร่วมมือกับ 2 องค์กร ได้แก่ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP สตาร์ทอัพไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบริหารจัดการขยะ และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ซึ่งจะมาช่วยจัดการปัญหาขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการข้อมูลการจัดการขยะในชุมชนแบบครบวงจร และนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการเพิ่มมูลค่าขยะ ควบคู่กับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานประมงและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำ และร่วมยุติปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในประเทศที่ยั่งยืน.