จัดระเบียบไอยูยูยังฟัดเดือด เจ้าท่าบีบต้องมีซีแมนบุ๊ก/ประมงพาณิชย์โวยติด VMS

13 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
กรมเจ้าท่า จัดระเบียบเรือประมงพาณิชย์ 10 ตันกรอสขึ้นไป ออกกฎหมายลูกบีบผู้ประกอบการทำหนังสือคนประจำเรือทั้งไทย-ต่างด้าวด้านประมงพาณิชย์ ดิ้นพล่านหวั่น พ.ร.ก.ใหม่ลงดาบ เผยฝ่าฝืนปรับต่อราย ตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ชี้หนักสุดโดนเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงด้านประมงนอกน่านนํ้า แฉมีเรือกว่า 500 ลำโดนจับ ข้อหาฝ่าฝืนไม่ติดVMS ทั้งที่เรือถูกเพิกถอนทะเบียนหมดแล้ว

[caption id="attachment_52264" align="aligncenter" width="700"] 3 ลำดับสุงสุดใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ 3 ลำดับสุงสุดใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์[/caption]

นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากกรณีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีหนังสือ เลขที่ คค 0304/1920 เรื่องการออกหนังสือคนประจำเรือประมง (ซีเมนต์บุ๊ก) ให้แก่บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย เพื่อสนับสนุนมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยูฟิชชิ่ง) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โดยจะมีผลบังคับใช้กับเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป ส่วนเรือประมงพื้นบ้านไม่อยู่ในข่ายต้องทำ

ทั้งนี้บุคคลที่จะประสงค์จะขอรับหนังสือคนประจำเรือประมง จะต้องมีคุณสมบัติ อาทิ เป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีหากผู้ยื่นคำขอเป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นบุคคลมิได้มีสัญชาติไทย จะต้องมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคล หรือหนังสือเดินทาง โดยทั้ง 2 กรณี จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่ามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานในเรือได้ อายุหนังสือคนประจำเรือหากเป็นคนไทย จะมีอายุ 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ออก ส่วนกรณีออกให้แก่บุคคลที่มิได้มีสัญชาติไทย จะมีอายุใช้ได้ถึงวันสิ้นสุดของสัญญาการว่าจ้างงาน หรือวันสิ้นสุดที่ได้รับใบอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแล้วแต่วันสิ้นสุดใดถึงก่อน

ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศของกรมเจ้าท่า ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 83 จะต้องบังคับครอบคลุมเรือทุกชนิด ได้แก่ เรือประมงพาณิชย์ มีจำนวน 1.1 หมื่นลำ แต่ถ้ารวมประมงพื้นบ้านด้วย ประมาณ 2.8 หมื่นลำ ไม่มีเว้น จะมาบังคับกับเรือประมงพาณิชย์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะ พ.ร.ก.เขียนไว้ว่าเรือประมงทุกขนาด เพราะฉะนั้นต้องบังคับประมงพื้นบ้านด้วยไม่ให้ละเว้น อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายลูกออกมาลงโทษนั้นตาม พ.ร.ก. โทษหนักรุนแรงเกินกว่าเหตุ

"หากฝ่าฝืน หรือละเมิดตามมาตรา 153 เจ้าของเรือประมงผู้ใดใช้คนประจำเรือซึ่งไม่มีหนังสือคนประจำเรือหรือไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 83 ต้องระวางโทษไม่น้อยกว่า 4-8 แสนบาทต่อคนประจำเรือดังกล่าว 1 คน และให้อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมงและให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรนายเรือของผู้ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย"

ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า จากการบังคับใช้กฎหมายของกรมประมง ขณะนี้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 500 ราย มีหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในข้อกล่าวหา เป็นเจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเรือประมง ไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ในข้อ 6 ที่หลังมีคำสั่งแล้ว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 13/2558 ข้อ 2 ให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปทุกลำต้องติดตั้งระบบภายใน 90 วัน ซึ่งประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ คือไม่มีการเขียนให้ชัดเจนว่าเรือที่จะต้องติดอุปกรณ์ VMS จะต้องเป็นเรือประมงที่ใช้งาน ในข้อเท็จจริงมีเรือบางลำอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง บางลำอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต จึงถอดสัญญาณ VMS ออกเพื่อไม่ให้เสียค่าบริการรายเดือน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งถูกเพิกถอนทะเบียนไปแล้ว

แหล่งข่าวจากประมงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับชาวประมง เพราะถ้ามีเรือที่ไม่ใช้งาน แต่ถูกบังคับให้ต้องติด VMS ต้องภาระอีก 2-3 หมื่นบาทเพื่อติดตั้งเครื่องมือนี้ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ล่าสุดทราบข่าวว่า กำลังจะออกหมายเรียกเรืออีก 1 พันลำ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับเรือที่ไม่ติด VMS

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559