‘แวร์เฮ้าส์’ เติบโตแรง รับศูนย์กลาง CLMV

10 เม.ย. 2565 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 15:41 น.

ซัพพลายตํ่า-ดีมานด์สูงดันธุรกิจ “แวร์เฮ้าส์” โตแรง อัตราการเช่าเกือบเต็มพิกัด ชี้ศักยภาพคลังสินค้าไทย เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าสู่ CLMV จากพรมแดนเชื่อมต่อกัน ขณะที่ทำเลมาแรงทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองชายแดนดึงผู้เล่นหน้าใหม่คึกคัก

แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะกระทบหลายธุรกิจให้หยุดชะงัก แต่สำหรับธุรกิจให้เช่าคลังสินค้ากลับได้รับการตอบรับที่ดีและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่า คลังสินค้าทั่วไปมีแนวโน้มความต้องการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี

‘แวร์เฮ้าส์’ เติบโตแรง รับศูนย์กลาง CLMV

ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การพัฒนาโครงการในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ EEC และการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์และโลจิสติกส์

 

 

ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนพื้นที่คลังสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ช้ากว่าอุปสงค์ ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ปรับดีขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 85-86%

 

โดยทำเลคลังสินค้าที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาล จังหวัดศูนย์กลางการเติบโตของภูมิภาคและคลังสินค้าในพื้นที่ชายแดน

 

 

 

ทำให้ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจคลังสินค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการลงทุนขยายพื้นที่ให้เช่าต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะคลังสินค้าทั่วไป และการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ

 

นายมนตรี กำประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท เบสท์บอนด์แวร์เฮ้าส์ จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าสู่ CLMV เนื่องจากมีพรมแดนเชื่อมต่อกับไทย และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการที่ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจเข้าไปลงทุน ธุรกิจคลังสินค้ายังคงมีโอกาสอีกมากที่จะเติบโต

 

โดยในปีที่ผ่านมา คลังสินค้าของเบสท์บอนด์ได้รองรับมูลค่าการซื้อขายทั้งในประเทศ และการนำเข้าส่งออกกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากลูกค้าที่ลูกค้าให้ตอบรับและใช้บริการมากขึ้นจนมีอัตราการเติบโต 30%

 

ปัจจุบันตลาดแวร์เฮ้าส์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคลังสินค้าทั่วไป ซึ่ง เบสท์บอนด์ มีทั้ง “คลังทัณฑ์บน” เขตปลอดอากรคลังสินค้าทั่วไปและคลังฮาลาล กระจายอยู่ตามโลเคชั่นสำคัญๆ 4 แห่ง ได้แก่ คลังสินค้ากิ่งแก้ว 5 หมื่นตร.ม., คลังสินค้านวนคร 1 แสนตร.ม., คลังสินค้าพระราม 3 ขนาด 4,000 ตร.ม. และคลังสินค้าบางนา กม.18 ขนาด 2 หมื่นตร.ม.

 

“ช่วงโควิดการเติบโตค่อนข้างดี เพราะลูกค้าเริ่มสต๊อกของจำนวนมากขึ้นเพราะกลัวสินค้าขาดตลาด จากการงดเดินเรือต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังขาดแคลน ในเรื่องของการเดินเรือไม่ถึงกับขาดแต่ต้องจ่ายค่าขนส่งที่แพงขึ้น บริษัทเองก็ช่วยเหลือลูกค้าให้จ่ายน้อยลงโดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคา 2 คลังสินค้าจาก 10 คลังสินค้า จำนวน 912 MW เพื่อนำไฟมาใช้กับคลังสินค้าที่มีห้องปรับอุณหภูมิ”

 

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทมีแผนวางแผนจะขยายศูนย์กระจายสินค้าอีก 2 แสนตร.ม. ไปตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆอีก 4 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone), บริเวณถนนพหลโยธิน กม.51, บริเวณถนนพระราม 2 และบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง (EEC)

 

โดยความคืบหน้าล่าสุดคาดว่าคลังสินค้าพระราม 2 จะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2566 คลังสินค้าแหลมฉบังเปิดบริการช่วงกลางปี 2566 คลังสินค้าสะเดา เริ่มการก่อสร้างไปแล้วคาดว่าปลายปีนี้ จะแล้วเสร็จ 1 หลัง และคลังสินค้าเชียงของซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเขียนแบบก่อสร้างนอกจากนี้มีแผนลงทุนขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม 500 MW โดยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดราว 1,000 ล้านบาท

 

“ปัจจุบันพฤติกรรมลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลง ต้องการความไว คลังสินค้าไหนที่ตอบโจทย์ลูกค้าตรงนี้ได้ก็จะมีการเติบโต เรามีบริการครบวงจร ขนส่งจับเก็บ มีเทคโนโลยี e-Fulfillment Warehouse และ e-Fulfillment Center รองรับการจัดการสต๊อกและในช่วงโควิดเราทำระบบออนไลน์ให้ลูกค้าจัดส่งของให้กับลูกค้าผ่าน SCG Express ได้ทันที ทำให้มั่นใจได้ว่าปีนี้จะมีการเติบโตราว 30%”

 

สำหรับธุรกิจแวร์เฮ้าส์มองว่ายังมีโอกาสเติบโตอย่างมาก เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง CLMV มีเส้นทางการกระจายสินค้าที่หลายเส้นทาง ทำให้ผู้ประกอบการพยายามที่จะขยายคลังสินค้าไปยังเขตชายแดนเพื่อรองรับโลจิสติกส์ระหว่างประเทศมากขึ้น