"นกแอร์" ขยายฝูงบินเพิ่มอีก 6 ลำ รับกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศ

12 เม.ย. 2565 | 01:59 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2565 | 09:09 น.

"นกแอร์" ขยายฝูงบินเพิ่มอีก 6 ลำในช่วง 2 ปีนี้ รับแผนกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมปั้นสนามบินโคราช-เบตง เป็นฮับบินใหม่ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ-เอกชน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีนี้ (ปี 2565-2566) นกแอร์เตรียมขยายฝูงบินอีก 6 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ความจุ 189 ที่นั่ง เพิ่มจากปัจจุบันบริษัทมีฝูงบินรวม 17 ลำ เพื่อนำมารองรับการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ

โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ในเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป อาทิ เส้นทางสู่ญี่ปุ่น (โอซาก้า) เวียดนาม (โฮจิมินห์ซิตี้) และอินเดีย หลังจากรัฐบาลทั้งฝั่งไทยและประเทศต้นทางผ่อนคลายมาตรการเดินทางมากขึ้น

 

ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของภาคท่องเที่ยวไทย ยังต้องรอลุ้นว่าจะผ่อนคลายเปิดประเทศในไตรมาส 4 นี้หรือไม่ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเตรียมนำเครื่องบินใหม่ไปขยายเส้นทางบินในประเทศอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้นกแอร์สนใจเพิ่มศูนย์ปฏิบัติการบิน (ฮับบิน) แห่งใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนครราชสีมา และสนามบินนานาชาติเบตง โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา นกแอร์ได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมท่าอากาศยาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ขอความช่วยเหลือเรื่องการผ่อนปรนหรือยกเว้นการจัดเก็บค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการต่างๆ แก่นกแอร์ เพื่อปลุกความเจริญแก่สนามบินที่ร้างอยู่

 

 

อย่างไรก็ตามการเปิดบินสู่นครราชสีมา ทางนกแอร์ขอรับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3-5 ปีแรก หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติ นกแอร์ก็พร้อมทำการบินเส้นทาง นครราชสีมา-เชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป อีกเส้นทางที่อยากทำการบินคือ นครราชสีมา-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) เพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางเข้าออกกรุงเทพฯในช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น นครราชสีมา-หาดใหญ่, นครราชสีมา-ภูเก็ต และนครราชสีมา-เบตง ต้องพิจารณาทำการบินตามฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

 

ในส่วนของฮับบินสนามบินเบตง นั้น  นกแอร์ เตรียมกลับมาทำการบินเส้นทางประจำ กรุงเทพฯ-เบตง อีกครั้ง หลังจำเป็นต้องยกเลิกไปจากกำหนดเดิมเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยวางกำหนดใหม่ เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ด้วยความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ 

 

\"นกแอร์\" ขยายฝูงบินเพิ่มอีก 6 ลำ รับกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศ

 

ล่าสุดนกแอร์ได้ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) บริษัท ซี.ซี.ที. เอ็กซ์เพรส จำกัด และบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด ดำเนินโครงการ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” ขายแพ็คเกจนำเที่ยว 3 วัน 2 คืน ราคาเริ่มต้น 9,900 บาท 

 

ทางกลุ่มพันธมิตรบริษัทนำเที่ยวได้เข้ามาการันตียอดขายที่นั่งให้แก่นกแอร์ที่จำนวน 60 ที่นั่ง จากความจุทั้งหมด 86 ที่นั่งของเครื่องบิน Q400 ตั้งราคาขายตั๋วบินเส้นทางดังกล่าวให้บริษัทนำเที่ยวที่ 6,800 บาทสำหรับเที่ยวบินทั้งขาไปและขากลับ 

 

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่ม ก็จะช่วยให้นกแอร์สามารถขายตั๋วบินแก่บริษัทนำเที่ยวได้ในราคาที่ถูกลง เอื้อต่อการทำการตลาดท่องเที่ยวของ อ.เบตง จ.ยะลา 

 

 

หลังจากก่อนหน้านี้ ทางกรมท่าอากาศยานได้ประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการทำการบินมายังท่าอากาศยานเบตง พ.ศ.2565 โดยให้ลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยานแก่สายการบินที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานเบตงในอัตรา 80% ของอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมถึงให้ลดค่าเช่าพื้นที่ในอาคารสำหรับสำนักงานของสายการบินในอัตรา 50% จากอัตราค่าเช่าที่กรมท่าอากาศยานกำหนด แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าขั้นต่ำที่กรมธนารักษ์กำหนด

 

ส่วนราคาขายตั๋วบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง แก่บุคคลทั่วไปโดยตรง เช่น ผ่านทางเว็บไซต์ของนกแอร์ เริ่มต้นที่ 3,400 บาทต่อเที่ยวบิน คาดเส้นทางนี้มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) อยู่ที่ประมาณ 75% ในช่วง 3 เดือน นับตั้งแต่ทำการบินวันแรก 29 เม.ย.2565 ตามที่ได้ลงนามฯร่วมกับกลุ่มพันธมิตรบริษัทนำเที่ยว

 

“นกแอร์ขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-เบตง ตลอด 3 เดือนของการลงนามฯร่วมกับพันธมิตรแน่นอน”

 

ทั้งนี้ หากนกแอร์สามารถผลักดันเส้นทาง กรุงเทพฯ-เบตง ติดตลาด มีดีมานด์ผู้โดยสารเข้ามาต่อเนื่องจนมั่นใจ อยากจะขยายเส้นทางจากฮับบินนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพของเส้นทางบินจากฮับบินเบตงสู่หาดใหญ่ ภูเก็ต มาเลเซีย และสิงคโปร์