ททท. ดึงนักท่องเที่ยว “อินเดีย” ฟื้นท่องเที่ยวชดเชยตลาด "จีน"

17 เม.ย. 2565 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2565 | 18:44 น.

ททท. เห็นชอบทำความตกลง “Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ชดเชยการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน สร้างรายได้อย่างน้อย 2.4 หมื่นล้านบาท เสริมทัพตลาดท่องเที่ยวต่างชาติ 65 แตะ10 ล้านคน สร้างรายได้ 625,800 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ตลาดนักท่องเที่ยว “อินเดีย” นับว่าเป็นกลุ่มที่อัตราการเติบโตที่ร้อนแรงด้วยจำนวนกว่า 1,995,516 คน ขยายตัว 24.85% เมื่อเทียบกับปี 2561 ดันรายได้ 86,372 หมื่นล้านบาท ขยายตัวถึง 27.45%

 

ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยคาดว่า นักท่องเที่ยว “อินเดีย” จะเข้ามาช่วยบาลานซ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งในปี 2562 มีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยกว่า 11 ล้านคน สร้างรายได้ถึง 5.31 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างหนักมาตลอด2 ปี ทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในกลุ่ม "อินเดีย" ถูกพับเก็บลงไป และในปัจุบันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายบวกกับนโยบายการเปิดน่านฟ้าและเปิดประเทศของทั้งฝั่งไทย-อินเดียชัดเจนขึ้น

 

โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 เห็นชอบการจัดทำความตกลง “Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ประเมินจำนวนและรายได้ตลาดต่างประเทศปี 2565 ตามคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดโลก

 

หากสถานการณ์ฟื้นตัวดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้อย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงเปิดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดชายแดน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 625,800 ล้านบาท

 

โดยเป็นสัดส่วนของตลาดระยะใกล้ จากภูมิภาคอาเซียนประมาณ 1.1 ล้านคน จากแปซิฟิกใต้ ตลาดหลักคือออสเตรเลีย 2 แสนคน และจากฝั่งเอเชียใต้ ตลาดหลักคือ “อินเดีย” 5 แสนคน ซึ่งสร้างรายได้ราว 2.4 หมื่นล้านบาท ผ่านการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคนต่อทริปประมาณ 8 วัน

 

“ตามมติ ครม.เห็นชอบการจัดทำความตกลงเรื่อง Air Travel Bubble ไทย-อินเดีย ทำให้มีสายการบินรวมฝั่งไทยและอินเดียอย่างน้อย 12 สายพร้อมให้บริการ คาดเห็นอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เฉลี่ย 70% ตลาดอินเดียจึงถือเป็นหัวหอกสำคัญช่วยชดเชยการหายไปของตลาดจีน”