การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงธุรกิจค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากลูกค้าทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ทำให้ทั้งห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต้องเร่งปรับตัวรองรับ จนสามารถพยุงธุรกิจให้รอดวิกฤตมาได้ พร้องเตรียมแผนลงทุนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ “เมกา บางนา” ที่เดินหน้าแผนโครงการมิกซ์ยูส “เมกาซิตี้” มูลค่า 6.7 หมื่นล้านตั้งแต่ปี 2560 จนปัจจุบันที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 40%
นางสาวพลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหาร เมกาบางนา และโครงการเมกาซิตี้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมกาบางนาก็สามารถปรับกลยุทธ์รับมือและผ่านวิกฤตมาได้
ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเมืองไทยได้สะดวกทั้งการยกเลิก Test & Go, การลดวงเงินประกัน การยกเลิกตรวจ RT-PCR ฯลฯ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งคาดว่ายอดขายและจำนวนลูกค้าจะกลับมาเหมือนเดินก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในปีนี้
สำหรับความคืบหน้าของโครงการมิกซ์ยูส “เมกาซิตี้” นั้น โดยพื้นที่ส่วนที่พัฒนาแล้วเสร็จได้แก่ ส่วนต่อขยายเมกา ฟู้ดวอล์ค พร้อมกับที่จอดรถ 1,200 คัน และร้านอาหารเพิ่มกว่า 30 ร้าน, อาคารจอดรถอิเกีย 8 ชั้นที่เชื่อมต่อกับตึกเดิมของอิเกียที่รองรับรถได้เพิ่มถึง 2,000 คัน, ส่วนต่อขยายโซนเมกา สมาร์ท คิดส์ แหล่งรวมสถาบันสอนเสริมทักษะกว่า20 แห่ง, Mega Harborland สนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่
สวนสาธารณะเมกาพาร์ค, โรงเรียนประถมศึกษานานาชาติ ดิษยะศริน กรุงเทพ และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ซึ่งโครงการแรกได้แล้วเสร็จและทำการส่งมอบแค่ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว และมีอีก 1 โครงการที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ พร้อมจะส่งมอบให้กับผู้ซื้อโครงการได้ภายในปี 2566 นี้
ล่าสุดยังเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะมาเป็นแม็กเน็ตคือ TOPGOLF ท็อปกอล์ฟ แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่กว่า 29 ไร่ในโครงการเมกาซิตี้ เพื่อแหล่งพบปะสังสรรค์แห่งใหม่ที่รวบรวมไลฟ์สไตล์ของผู้ชื่นชอบการเล่นเกม กีฬา มินิกอล์ฟ ร้านอาหาร สปอร์ตบาร์ รวมถึงบาร์รูฟท็อป ซึ่งจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปีนี้
“เมกาบางนาและเมกาซิตี้ เป็นเป้าหมายหลักของบริษัท โดยโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การขยายพื้นที่ของเซ็นทรัล @ เมกาบางนา เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 หมื่นตร.ม. พร้อมกับการจัดโซนนิ่งสินค้าและบริการใหม่ การเปิดเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์
นอกจากนี้ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออก ทำให้โครงการเมกาซิตี้เป็นที่สนใจของนักลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาโรงแรมภายในโครงการ โดยจะเป็นโรงแรมสำหรับเจาะกลุ่มนักธุรกิจ บนพื้นที่รวมกว่า 1.3 หมื่นตร.ม.”
สำหรับแผนลงทุนของบริษัทในปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านบาทสำหรับงบการตลาดทั้งการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการจัดงานครบรอบ 10 ปีของเมกา บางนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 42 ล้านคน
อีกทั้งมีผู้เช่ารายใหม่ๆ ทยอยเข้ามาเปิดให้บริการ อาทิ CHANEL FRAGRANCE & BEAUTY, GUCCI BEAUTY, DIOR COSMETICS, YSL, YUZU SUKI, KAM’S ROAST และ ทองสมิทธ์ เป็นต้น โดยปัจจุบันเมกา บางนามีอัตราการเช่าพื้นที่เต็มเกือบ 100% แล้ว
“โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการราว 1.5-1.6 แสนคน คิดเป็น 80-90% ของจำนวนทราฟิคก่อนที่จะเกิดโควิด ทำให้เชื่อว่าหลังปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะดวกได้ยิ่งขึ้นจะทำให้จำนวนลูกค้าและยอดขายกลับมาเหมือนเดิมก่อนการเกิดโควิด-19 ภายในปีนี้อย่างแน่นอน”
นางสาวพลินี กล่าวอีกว่า คีย์ซัคเซสของเมกา บางนา คือ 1. EVOLVING TENANT MIX การบริหารจัดการ Tenant Mix โดยเมกาบางนามีการปรับเปลี่ยนพัฒนาร้านค้าต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและกระแสนิยมของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
โดยปัจจุบันมีลูกค้าหลัก 5 แบรนด์ที่เป็นแม็กเน็ตสำคัญ คือ อิเกีย, โฮมโปร, เซ็นทรัล@เมกาบางนา, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า และเมกา ซีนีเพล็กซ์ 2. NEW & NOW EXPERIENCE การพัฒนาและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ให้กับลูกค้าผ่านแบรนด์ กิจกรรมการตลาด และ 3. SUSTAINABILITY & ECO-FRIENDLY OPERATIONS การดึงดูดและการบริหารจัดการจำนวนลูกค้า
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565