วันที่ 24 มิ.ย. ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่สองของการจัดงาน Startup x Thailand Expo 2022 (SITE 2022)
ซึ่งภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนา Corporate Challenge in Changing World: Turning Global Crisis to Innovation Opportunity โดยมีนายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ดร.สมนึก จรูญจิตเสถียร ผู้จัดการประจำฝ่ายแผนกลยุทธ์และบริหารนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
มาให้ข้อคิดเห็นและแชร์มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเผชิญความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก
จากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากผลของสงครามการค้าและการสู้รบระหว่างประเทศ องค์กรจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและการลงทุนให้อยู่รอดและรับมือกับความท้าทายเหล่านี้
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า องค์กรชั้นนำของประเทศไทยจึงต้องมีแนวทางการพลิกจากวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม โดยวิทยากรทั้งสองท่านได้ให้มุมมอง ดังนี้
1. ทุกองค์กรไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต่างประสบปัญหาที่ต่างกันทั้งหมด ไม่ว่าจะในแง่ของรายได้ที่ลดลง คุณภาพชีวิตของพนักงาน หรือการดูแลลูกค้า แนวคิดในการพัฒนาองค์กรในช่วงวิกฤติใดๆ ก็ตามคือต้องปรับให้องค์กรมีความยืดหยุ่นได้สูง แทนที่จะมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างกลยุทธ์เพื่อการเติบโตเหมือนเดิม ก็ปรับเป็นกลยุทธ์เพื่อการเอาตัวรอดก่อน และจากนั้นค่อยปรับเป็นกลยุทธ์การฟื้นฟูต่อไป
2. การผนึกกำลังกันเป็นสิ่งสำคัญ ทุกองค์กรควรมีพันธมิตรทุกขนาดในการแบ่งปันข้อมูลและเครื่องมือในการจัดการปัญหารวมถึงสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่เปรียบเสมือนยักษ์ที่เคลื่อนตัวช้า ก็ต้องมีทีมเคลื่อนที่เร็วหลายชุดเข้ามาช่วยด้วย แล้วใช้นวัตกรรมเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญในการทำให้เข้าถึงทุกสถานการณ์และปรับกลยุทธ์ได้ทันเวลา
3. เมื่อเราได้เรียนรู้หลายสิ่งจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ต่อจากนี้คือการเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและการเผื่อแผ่ที่มากขึ้น เพราะวิกฤติและปัญหาต่างๆ มีโอกาสที่จะวนลูปกลับมาเสมอ ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว แต่นวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ จะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสังคมให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างเร็วที่สุด
4. ในบริบทต่อไปอุตสาหกรรมต่างๆ อาจจะต้องปรับมุมมองที่มีต่อการ Give & Take ต่อสังคม ให้มีเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปมากขึ้นอีกด้วย เพราะปัญหาต่อไปที่เราเผชิญอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาดแล้ว แต่เป็นการขาดแคลนอาหารและน้ำ ซึ่งผู้บริโภคทุกคนก็คือลูกค้าของเราเอง
และ5. ในยุคถัดไป นวัตกรรมที่ทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกองค์กรต้องมี เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดจะถูกปรับเปลี่ยนไป องค์กรที่จะเติบโตไม่ใช่แค่สร้างความมั่นใจให้กับผู้คนในสังคมเท่านั้น แต่ต้องมีนวัตกรรมที่สร้างเพื่ออนาคตโดยรวมของโลกที่เราอยู่อาศัยร่วมกัน