ถือเป็นวาระระดับโลก สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
ที่ปลุกให้ประเทศต่างๆทั่วโลกหันมาตระหนักและใส่ใจต่อสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ในการให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล่าสุด NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประกาศพร้อมเดินหน้าสนับสนุนเต็มที่
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกหนึ่งวิกฤตใหญ่ นอกเหนือจากวิฤตการระบาดใหญ่ และวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
โดยที่ผ่านมา NIA ตระหนักถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้าไปเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดให้ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเป็นหนึ่งใน 3 วิกฤตที่นวัตกรรมจะเป็นคำตอบในการรอดพ้นจากวิกฤต
ขณะที่ประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และจะนำแผนนี้เป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565
จากประเด็นการหารือใน COP25 (ปี ค.ศ. 2019) ที่มุ่งเน้นความพยายามในการหาวิธีนำความตกลงปารีส (ปี ค.ศ. 2015) ไปปฏิบัติจริงอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกันกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
โดยให้แต่ละประเทศจัดทำแผนการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยกระดับความท้าทายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนำมาปรับใช้เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน รวมถึงชะลอและหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อเนื่องถึงการประชุมครั้งนี้
ที่มุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ 2050 และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
2. ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและถิ่นที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างการป้องกัน ระบบเตือนภัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น
3. การระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อใช้ในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. สร้างความร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม
จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว “นวัตกรรม” ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะโลกร้อน ขยะพลาสติก ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ดังนั้น NIA จึงเร่งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
.
การส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ จะเน้นส่งเสริมพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และขยะ ซึ่งมีตัวอย่างผลงานนวัตกรรม ได้แก่ “Neo Solar: ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง” โดยใช้แหล่งพลังงานจากโซลาร์เซล์แบบลอยน้ำที่สามารถปั๊มน้ำส่งขึ้นไปบนบ่อน้ำที่จุดสูงสุด มีระบบควบคุมการปล่อยจ่ายนํ้าเข้าสู่บ่อพักน้ำ
ระบบการควบคุมระบบสูบและกระจายน้ำไปยังบ่อน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อปล่อยจ่ายน้ำไปยังแปลงเกษตรได้โดยไม่ต้องคอยขับรถขึ้นดอยไปปิดเปิดทุกครั้ง และ “ระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรสำหรับชุมชนหนองมะโมง” เพื่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียฟารม์สุกรที่ผ่านการบำบัดแล้ว
ส่งจ่ายให้แก่ชุมชนตำบลหนองมะโมงสำหรับเป็นก๊าซหุงต้มในวัด โรงเรียน และครัวเรือนของชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านหนองตะขบ รวมทั้งสิ้น 40 ครัวเรือน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาพลังงานทดแทนระดับชุมชนระดับภูมิภาคด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ NIA ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดกิจกรรม "สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground)" ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ใน 50 โรงเรียน รวมกว่า 10,000 คน
ผ่านเครื่องมือการสร้างสรรค์นวัตกรรม STEAM4INNOVATOR เพื่อตอบโจทย์การจัดการขยะและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy – W2E) บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจและการลงมือทำอย่างเป็นระบบ
สำหรับในเป้าหมายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ไฟป่า ภัยแล้ง พายุ คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีตัวอย่างผลงานนวัตกรรม ได้แก่ “Smoke Watch: แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่งสำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน”
โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดกระบวนการดับไฟขนาดเล็กไม่ให้เกิดการลุกลาม และลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และ “Dr. Barrier: แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจในการชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า” โดยประเมินความเสี่ยงจากปริมาณการสะสมของเชื้อเพลิง สภาพอากาศ และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งดำเนินการตามแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติ คือ สามารถเผาได้ 1 ตารางกิโลเมตรต่อครั้ง จากการนำร่องในพื้นที่อุทยานตำบลผาเลือด จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่าช่วยลดอัตราการเกิดไฟไหม้ระดับรุนแรงได้มากกว่า 60-70%
“ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ NIA ให้การสนับสนุนผ่านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอีกมากมายเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ในหลากหลายประเด็นของโลก
เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า”