หลังจากมีข่าวการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่จากสายการบินยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งประกอบไปด้วย Air China, China Eastern, China Southern และ Shenzhen Airlines สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 รวมทั้งหมด 292 ลำ
โดยแอร์ไชนาและไชนา เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเอ320 สายการบินละ 96 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 433,856.40 ล้านบาท) ส่วนไชนา อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส สั่งซื้อเครื่องบินแบบเดียวกัน จำนวน 100 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 455,193.60 ล้านบาท)
การสั่งซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ดังกล่าว ได้เพิ่มเติมจากฝูงบินรวมของแอร์บัส ในประเทศจีน ณ ปัจจุบัน (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2022) ที่มีมากกว่า 2,000 ลำ ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของตลาดสายการบินจากประเทศจีนของแอร์บัส
การสั่งซื้อที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทโบอิ้งแสดงความผิดหวัง อย่างหนักสำนักงานใหญ่ของโบอิ้ง ที่เมืองชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โบอิ้งมีความสัมพันธ์อันดีกับอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของจีนมาตลอด
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึง “ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” ว่าผลกระทบทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ จะสร้างข้อจำกัดให้กับความร่วมมือระหว่างจีนกับโบอิ้งด้วย
อนึ่งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ โบอิ้งส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ให้แก่จีนได้เพียงลำเดียวเท่านั้น
สำนักข่าว Reuters รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีของโบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติอเมริกา ซึ่งถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของ แอร์บัส โดย โบอิ้ง ได้ออกมาแสดงความ "ผิดหวัง" ต่อการสั่งซื้อครั้งนี้ และยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ที่ปัจจุบันยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องบินของผู้ผลิตจากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศจีน
นอกจากนี้โบอิ้ง ยังเปิดเผยว่า บริษัทฯจะผลักดันให้เกิดการเจรจาในประเด็นนี้ระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลจีนให้สามารถหาทางออกได้เร็วที่สุด
จากกรณีดังกล่าว นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pat Hemasuk Pat แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า การพังทลายจากภายในนั้นคือความวิบัติที่แท้จริงและวิบัติอย่างถาวร
คืนนี้ผมอยากจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันก่อนเกี่ยวกับ จีน สหรัฐ และฝรั่งเศส ในกรณีที่จีนตัดสินใจซื้อเครื่องบิน A320neo family จากแอร์บัสล็อตใหญ่จำนวน 292 ลำ ราคาไม่น้อยกว่าสามหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในสายการบินหลัก 4 สายการบินคือ Air China, China Southern Airlines, China Eastern Airlines และ Shenzhen Airlines ซึ่งทั้ง 4 สายการบินมีทั้งเครื่องบินของแอร์บัสและโบอิ้งให้บริการอยู่รวมแล้วกว่าพันลำ
เรื่องที่ทำไมจีนถึงเลือกซื้อเครื่องจากแอร์บัสนั้นมีหลายสาเหตุ เอาสาเหตุแรกก่อนคือความเสียหายที่ Boeing 737 Max รุ่นเจ้าปัญหาที่ต้องหยุดบินหลังเครื่องตกติดต่อกันสองลำคนตายไป 346 คน แล้วต้องหยุดบินกันไปถึง 20 เดือนจากการที่ FAA สั่งระงับการบินเพื่อหาสาเหตุและทางโบอิ้งเองต้องปรับปรุงเครื่องใหม่ให้มีความปลอดภัยจำนวน 367 ลำจาก 59 สายการบินทั่วโลก สายการของบินจีนก็เป็นหนึ่งในนั้น ตามที่คาดการณ์เอาไว้สายการบินทั่วโลกเสียหายไปจากการห้ามขึ้นบินของ 737 Max ถึงสองหมื่นล้านดอลลาร์
แต่เรื่องหลักที่จีนไม่ซื้อโบอิ้งเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกนั้นเปลี่ยนไปมากแล้วตั้งแต่จีนโดนสหรัฐเล่นงานมาตลอด 5 ปีตั้งแต่สมัยสงครามการค้าในสมัยบริหารของ ปธน.ทรัมป์ จนถึงสมัย ปธน.ไบเดนก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แถมยังไปยั่วโมโหจีนอีกในเรื่องไต้หวัน
จนถึงการแบ่งขั้วของโลกอย่างชัดเจนจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่สหรัฐนั้นเข้าแทรกแซงโดยใช้มือของกลุ่มประเทศนาโต้และมิตรประเทศนอกนาโต้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการสนับสนุนสงครามด้านอาวุธให้ยืดเยื้อไปอีกจนคนที่เจ็บตัวนั้นไม่ใช่รัสเซีย
แต่เป็นบรรดากลุ่มประเทศยุโรปที่ร่วมแซงชั่นรัสเซีย รวมถึงสหรัฐเองด้วยที่ต้องเจอกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากราคาพลังงานที่ขึ้นไปเกือบสองเท่าทั้งโลก รวมถึงซัพพลายเชนจากรัสเซียและจีนที่ทำให้สภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐหลังโควิดรุนแรงขึ้นไปอีก
จีนนั้นเลือกแล้วที่จะยืนอยู่ข้างรัสเซีย ซึ่งจีนเองก็คงเห็นแล้วว่าสักวันถ้าจีนโดนสหรัฐเข้าแทรกแซงเรื่องไต้หวันก็คงต้องทำเหมือนกับที่รัสเซียทำ จากกรณีที่รัสเซียโดนแทรกแซงเรื่องยูเครน จนรัสเซียต้องตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าบุกยูเครนก่อนที่ยูเครนจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกนาโต้ เรื่องนี้รัสเซียยอมไม่ได้ที่จะสูญเสียการควบคุมทางการทหารของกองเรือทะเลดำไปอย่างถาวร ซึ่งไม่ต่างกับจีนที่ยอมไม่ได้ในเรื่องที่สหรัฐเข้าแทรกแซงสนับสนุนไต้หวันและเข้ามายุ่งกับปัญหาของทะเลจีนใต้
จากตัวอย่างของรัสเซียที่โดนยึดเงินและทรัพย์สินทั้งในสหรัฐและยุโรป จีนก็ยอมไม่ได้อีกเช่นกันที่จะโดนยึดทรัพย์ทุกอย่างในรูปของเงินลงทุนที่เป็นเจ้าหนึ้อันดับต้นของสหรัฐ และเงินลงทุนมหาศาลในยุโรปเหมือนรัสเซียถ้าสหรัฐไม่พอใจ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงต้นไตรมาสสามในเวลานี้ จีนถอนการลงทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐไปมากพอสมควร กิจการบางบริษัทที่เป็นหุ้นใหญ่ก็ขายทิ้งไปทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนนั้นก็ไม่พอใจเรื่องของสหรัฐที่เข้ามาสอดมือเข้ามายุ่งในทะเลจีนใต้ รวมถึงไต้หวันที่จีนบอกแล้วว่าห้ามยุ่ง แต่รัฐบาลของ ปธน.ไบเดนก็ไม่ฟังคำเตือนของจีน
สิ่งหนึ่งที่ ปธน.มาครองของฝรั่งเศสได้ทำมาตลอดกับจีนและรัสเซียก็คือการติดต่ออย่างใกล้ชิดในทุกปัญหา ไม่ต่างกับที่ นางแมร์เคิลของเยอรมันทำก็คือการโทรพูดคุยกับ ปธน.ปูตินของรัสเซีย และ ปธน.สีจิ้นผิงของจีนก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม ในช่วงสงครามยูเครนนั้น ปธน.มาครองเกือบจะคุยกับ ปธน.ปูตินรายวันเลยก็ว่าได้ เป็นประเทศเดียวที่ทำแบบนี้
เพราะคนที่ ปธน.ปูตินจะคุยด้วยแบบดีๆ ก็เหลือแต่ ปธน.มาครองคนเดียวก็ว่าได้ เพราะป้าแมร์เคิลก็ลงจากตำแหน่งไปแล้ว จนหนังสือพิมพ์ในยุโรปและสหรัฐหลายฉบับได้กล่าวถึงเรื่องนี้แบบติดตลกว่าถ้าสงครามลามไปทั่วยุโรปคงเหลือฝรั่งเศสประเทศเดียวที่ไม่มีนิวเคลียร์ของรัสเซียลงถล่มเมือง
เรื่องการซื้อเครื่องบินแอร์บัสของจีนเกือบสามร้อยลำและเงินหายไปไม่น้อยกว่าสามหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์นั้น โบอิ้งเดือดร้อนมากและดูเหมือนจะไม่พอใจรัฐบาลไบเดนอย่างมาก ในแถลงการณ์ของบริษัทโบอิ้งในตอนหนึ่งกล่าวว่า
“It is disappointing that geopolitical differences continue to constrain US aircraft exports,”
"นี่คือเรื่องผิดหวังที่ความแตกต่างทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนกระทบถึงการส่งออกเครื่องบินของสหรัฐ"
ทางโฆษกของโบอิ้งเองก็ยังพูดต่อว่าประเทศจีนเป็นตลาดสำคัญของโบอิ้งในการขายเครื่องบินตระกูล 737 การที่จีนและสหรัฐเกิดความตึงเครียดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้า มีผลกระทบกับการจ้างงานของโบอิ้ง ซึ่งยอดสั่งซื้อในอดีตจากจีนที่มีกับโบอิ้งนั้นได้เพิ่มการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง
อย่างที่บอกในบรรทัดแรกนั่นแหละว่า "การพังทลายจากภายในนั้นคือความวิบัติที่แท้จริงและวิบัติอย่างถาวร"
เรื่องนี้คงเป็นบทเรียนให้กับสหรัฐ รวมถึงรัฐบาลของพรรคเดโมแครตด้วยว่า ที่รัฐบาลของพรรคริพับลิกันทำพังมาตลอดสี่ปีในสมัยของ ปธน.ทรัมป์ นั้นยังเทียบไม่ได้กับเรื่องที่กำลังจะพังเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต จากนโยบายของ ปธน.ไบเดน ถ้าสหรัฐยังไม่เลิกไปยุ่งทำตัวเป็นเจ้าโลกกับจีน ภาคธุรกิจของสหรัฐเองนั่นแหละจะพัง และสหรัฐจะพังจากภายในไม่ต่างกับที่กลุ่มยุโรปเศรษฐกิจพังวินาศไปหมดจากการที่ไปยุ่งกับยูเครนให้แข็งข้อกับรัสเซียจนเกิดสงครามขึ้นมาอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
เรื่องนี้ต้องเข้าใจกันใหม่สำหรับบางคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวต่างประเทศนะครับว่า ถ้าปล่อยให้ยูเครนอยู่อย่างเดิมเหมือนกับที่เคยเป็นเคยอยู่ สงครามก็ไม่เกิด เพราะยูเครนคือรัฐกันชนของรัสเซียกับกลุ่มนาโต้ แต่สหรัฐและนาโต้ดันไปยุ่งกับยูเครนจนรัสเซียต้องตัดสินใจบุกอย่างที่เห็นทุกวันนี้ จำเลยที่หนึ่งก็คือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในสมัยการบริหารของพรรคเดโมแครตนี่แหละครับ