หลังจากการบินไทยได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น โดยได้ปรับแผนใหม่ เน้นไปที่การปรับโครงสร้างทุนเป็นหลัก
ด้วยการเพิ่มทุนรวม 8 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มทุนจดทะเบียน 3.15 หมื่นล้านหุ้น พ่วงแปลงหนี้เป็นทุน รวม 5.5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน จำนวนราว 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 25% ของมูลหนี้ และการขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้เดิมอีก 2.5 หมื่นล้านบาท
รวมถึงการปรับวงเงินกู้ใหม่ให้เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6 ปี จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น (สินเชื่อหมุนเวียน) 1.25 หมื่นล้านบาท เผื่อไว้อีกด้วย จากแผนฉบับเดิมที่ต้องการหาเงินหาสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้านบาท จากภาครัฐและเอกชน ซึ่งการแก้ไขแผนนี้ยังต้องรอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาและดำเนินการจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ตามแผนใหม่ดังกล่าว การบินไทยได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไว้หมดแล้ว ทั้งกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ต่างก็พร้อมสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพื่อหนุนให้การบินไทยมีส่วนทุนกลับมาเป็นบวกปี 2567
เนื่องจากจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ได้เร็วกว่าแผนเดิม โดยเฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้ เพราะถ้าแผนเดิมกว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้จะได้เงินคืนงวดสุดท้าย คือ 14 ปี แต่ถ้าแปลงหนี้เป็นทุนตอนนี้ ในปี 2568 การบินไทยก็จะออกจากแผนฟื้นฟูและสามารถทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนเดิม ก็จะเป็นผลดีกว่า
ล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) เห็นชอบให้สหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้เดิมซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 8,000 ล้านบาท โดยให้ที่ประชุมใหญ่ของแต่ละสหกรณ์ประชุมอีกครั้ง
ทั้งนี้เบื้องต้น 2 สหกรณ์จะนัดประชุม คือ สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
“สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้หลักหรือรายใหญ่สนใจจะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อที่จะลดหรือชดเชยผลขาดทุนจากการเข้าไปลงทุนก่อนหน้า คาดว่าภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้าจะประชุมหารือกันแต่ละสหกรณ์ และทางชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ก็คงจะประชุมอีกครั้งในเร็วๆนี้”
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการปรับแผนดังกล่าว มีการหารือกับเจ้าหนี้มาหลายรอบ โดยกระทรวงการคลังก็พร้อมสนับสนุนการบินไทย เพราะถ้ากระทรวงการคลัง ไม่ทำอะไรเลย คลังก็จะเหลือหุ้นอยู่ในการบินไทยเพียง 4% เท่านั้น
แต่หลังการปรับโครงสร้างทุนในครั้งนี้กระทรวงการคลัง จะถือหุ้นอยู่ในการบินไทย 33% หากรวมหน่วยงานภาครัฐอย่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย กองทุนวายุภักษ์ รัฐก็จะยังถือหุ้นอยู่การบินรวม 40% โดยที่ในแผนฟื้นฟูกำหนดชัดเจนว่าการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตอีกแล้ว
ทั้งนี้หลักๆ ที่ทำให้สถานการณ์ของการบินไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น จนนำไปสู่การแก้ไขแผนฟื้นฟูดังกล่าว เป็นเพราะการเดินแผนลดต้นทุนอย่างหนัก การลดจำนวนพนักงานจาก 3 หมื่นคนเหลือไม่เกิน 1.5 หมื่นคน การเจรจาเงื่อนไขการใช้เครื่องบิน ยืดหนี้ การขายทรัพย์สินรองออกไป
รวมถึงผลจากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางของหลายประเทศ ทำให้การบินไทยสามารถหารายได้ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องนำเครื่องบินที่เคยอยู่ในแผนที่จะขายออกไปนำกลับมา 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200 ER และแอร์บัสเอ 330 จำนวน 3 ลำ เพื่อนำมาขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า สำหรับการกู้เงินภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น ธนาคารกรุงเทพจะเป็นโต้โผ โดยกรอบวงเงินกู้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ทำแผนแจ้งว่าต้องการใช้เงินเพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยธนาคารต่างๆ สนใจที่จะปล่อยกู้อยู่แล้ว รวมทั้งธนาคารออมสิน เพราะเป็นการปล่อยกู้ที่มีหลักประกัน