ปักหมุด 7 จุดสายมู "วันเดย์ทริป" ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบเกาะรัตนโกสินทร์

16 ก.ค. 2565 | 01:34 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2565 | 09:49 น.

ปักหมุด 7 จุดสายมู ท่องเที่ยววันหยุดกันแบบวันเดย์ทริป ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นสิริมงคล เสริมดวง โชคลาภ สมปรารถนา พร้อมเคล็ดลับการสักการะต้องทำยังไง ถวายอะไร จุดไหนต้องอธิฐานขอพรเรื่องไหนบ้าง

ฟ้าครึ้มเมฆคล้ำลอยคล้อยต่ำลงมา กลายเป็นละอองฝน แต่พวกเราทุกคนในคณะทัวร์สายมู รู้ประวัติศาสตร์ ของ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ เคทีซี ก็ไม่ได้หวาดหวั่นแต่อย่างใด เพราะในใจยึดมั่นอยู่กับวัด วัง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายตลอดวันเดย์ทริป เสริมดวง โชคลาภ สิริมงคล และสมปรารถนา

 

คณะของเราล้อหมุนออกจากจุดนัดพบด้วยฤกษ์ดี ที่เวลา 9.09 น. ทุกชีวิตที่ร่วมคณะใส่เสื้อสีมงคลอย่างพร้อมเพรียง ทั้งเสริมอำนาจวาสนา มหาเสน่ห์ ไร้เคราะห์ ปลอดโรค และร่ำรวย นั่งรถฟังบรรยายหมุดหมาย 7 จุดรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ฟังเพลินๆ แค่อึดใจ รถโค้ชคันโตก็พาเรามาถึงจุดหมายแรก นั่นคือ “วัดราชนัดดารามวรวิหาร”

 

ตั้งต้น จุดแรกที่ “ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์” ที่ประทับสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงออกรับแขกเมืองของประเทศ และเป็นสถานที่มอบกุญแจเมืองตามประเพณีอย่างฝรั่งให้กับแขกเมืองที่มาเยือนสยาม

 

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

ชมความงามของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สักพักก็ให้ไปถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระบิดาแห่งการค้าไทย ด้วยพวงมาลัยดอกไม้ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้านโภคทรัพย์ เสริมดวงค้าขายร่ำรวย เสริมความมั่นคงก้าวหน้าด้านการงาน

 

จากนั้นจึงเข้าไปชมความอลังการของ “โลหะปราสาท” ซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก โดยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นปราสาท 3 ชั้น แทนการสร้างเจดีย์ มี 37 ยอด สีทองอร่ามสวยงามจับใจ 

 

โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

 

นอกจากชมโลหะปราสาทแล้ว ขอให้ได้เข้าไปในพระอุโบสถ ซึ่งประดิษฐานพระประธานพระนามว่า “พระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์” พระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงศิลปะในรัชกาลที่ 3 มีความหมายลึกซึ้งว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนีผู้ประเสริฐสูงสุด

 

พระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์ วัดราชนัดดารามวรวิหาร

 

ต่อกันด้วย จุดที่สอง คือ “ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม” หรือ เทวาลัยพระศรีวสุนธรา ริมคลองรอบกรุง เยื้องสนามหลวง เป็นเทพีแห่งผืนแผ่นดิน โดยมีความพิเศษตรงที่ปลายมวยผมเป็นทางไหลของน้ำสะอาดเพื่อให้ผู้คนได้ใช้ดื่มกิน สร้างขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานน้ำดื่มให้แก่ผู้คนที่สัญจรไปมา 

เคล็ดลับการสักการะพระแม่ธรณี ต้องสักการะด้วย พวงมาลัยดอกดาวเรือง เพื่อขอขมาและอโหสิกรรม เบิกที่ทางให้ธุรกิจก้าวหน้า ค้าขายร่ำรวย เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการขายบ้านหรือที่ดิน

 

ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือ เทวาลัยพระศรีวสุนธรา

 

จุดที่สามไม่ไกลกันนัก เดินย้อนขึ้นมาริมคลองรอบกรุงหลังกระทรวงกลาโหม จะพบกับตรอกเล็กๆ ชื่อ ตรอกครุฑ ข้างโรงรับจำนำ เดินเข้าไปไม่เกิน 20 ก้าว มี “ศาลเจ้าพ่อครุฑ” ศาลเล็ก ๆ อายุร่วม 100 ปี ชาวบ้านย่านนั้นเรียกว่า ศาลปู่ เล่ากันว่า สมัยโบราณตรอกนี้เคยมีร่องน้ำ และมีคนพบครุฑไม้ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นครุฑหน้าเรือ ลอยมาพร้อมกับหัวจระเข้ที่ตั้งอยู่ในศาล ชาวบ้านที่นี่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

เคล็ดลับการสักการะ “องค์พญาครุฑ” ตั้งจิตอธิษฐานด้วยธูป พวงมาลัย 1 พวง ธัญพืช 9 อย่างและน้ำแดง1 ถ้วย (ไม่แนะนำให้บนบานศาลกล่าว) จากนั้นลาน้ำแดงที่ถวายมาดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคล รับผงธูปขี้เถ้าไปผสมน้ำอาบเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย อาถรรพ์ คุณไสย มนต์ดำ เสริมอำนาจวาสนา นำความเจริญรุ่งเรืองและยศถาบรรดาศักดิ์สู่ชีวิตและหน้าที่การงาน มีเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภและปกป้องภัยอันตราย

 

ศาลเจ้าพ่อครุฑ

 

จุดที่สี่ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร” อายุ 240 ปี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ศาลหลักเมือง ด้วยดอกบัว ภายในอาคารหอพระพุทธรูป ใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต ศาลาจำลอง 

 

จุดเทียน ธูป กล่าวคำอธิษฐาน ผูกผ้าแพร 3 สี ที่องค์หลักเมืองจำลอง อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยดอกดาวเรืองถวายองค์พระหลักเมืองอาคารศาลเทพารักษ์ นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬ-ไชยศรี เจ้าเจตคุปต์และเจ้าหอกลอง 

 

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

 

แล้วเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดเพียงครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ส่วนน้ำมันตะเกียงอีกครึ่งขวดให้เติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัวเรา จากนั้นรับน้ำพุทธมนต์ไว้พรม อาบ ดื่ม เพื่อเสริมความมั่นคงให้ชีวิตราบรื่น สุขสมหวัง พบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

 

จุดที่ห้าพาไปย่านเสาชิงช้า เข้าไปสักการะ “เทวสถานโบสถ์พราหมณ์” สักการะองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ ด้วยชุดบูชาใหญ่ ได้แก่ ดาวเรือง มะนาว ธูป กะเพรา อ้อย น้ำเปล่า นมสด หมากพลู โดยนำอ้อยและนมสด สักการะ “พระพิฆเนศวร” เทพแห่งปราชญ์ และเทพแห่งความสำเร็จ นำดาวเรือง มะนาว หมากพลู 

 

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

 

สักการะ “พระพรหม” เทพผู้สร้าง ให้ชีวิตการงานมั่นคง รุ่งเรืองตลอดปี นำกะเพราสักการะ “พระนารายณ์” เทพผู้รักษาธรรม และอธิฐานขอเรื่องสุขภาพ “พระอิศวร” เทพผู้ประทานพร พระศิวลึงค์ เพื่อให้การงาน การเงินสมดังปรารถนา

 

จุดที่หก ไปกันต่อที่ “โบสถ์เทพมณเฑียร” สมาคมฮินดูสมาช สร้างขึ้นโดยศาสนิกชนชาวฮินดูและชาวอินเดียในประเทศไทย ภายในมีเทวรูปหินอ่อนประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน สักการะเทวปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดา อันเป็นที่เคารพของชาวฮินดู ซึ่งนำมาจากประเทศอินเดีย

 

โบสถ์เทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช

 

ส่วนใหญ่เมื่อไหว้องค์เทพอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาแล้ว หลายคนนิยมขอพรเรื่องความรักจาก “พระวิษณุและพระแม่ลักษมี” ด้วยความเชื่อว่าองค์เทพทั้งสองจะประทานความรักอันบริสุทธิ์ที่เป็นนิรันดร์แก่ผู้ที่ตั้งจิตอธิษฐานจริงจัง ให้ได้สมหวังดั่งใจหมาย

 

ทิ้งท้าย จุดที่เจ็ด ด้วยการเข้าไป “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นเอก และวัดประจำรัชกาลที่ 8 สักการะพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธาน ภายในพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดินเท้าไปด้านหลังพระอุโบสถ สักการะพระกริ่งใหญ่ ด้วยธูป เทียนและดอกบัว 1 ดอก 

 

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 

ถือว่าเป็นพระพุทธคุณรักษาโรค ขอพรเป็นกำลังใจให้สุขภาพ พลามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมสักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” อธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย ด้วยธูปและกุหลาบแดง 9 ดอก ขอพรโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น ป้องกันภัยร้ายรอบตัว

 

ท้าวเวสสุวรรณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 

จบทริปด้วยสายฝนพรำ ๆ เป็นน้ำมนต์ส่งทุกคนกลับบ้านด้วยความเป็นสิริมงคล อิ่มเอมในบุญกุศลที่ได้มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองตลอดทั้งวัน

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565