ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี รายงานผลการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชนยลวิถี ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อคัดเลือกชุมชนคุณธรรม นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคื่ลนด้วยพลัง บวร. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยว จากชุมชนคุณธรรมฯ ทั่วประเทศ จำนวน 228 ชุมชน คัดเหลือ 10 ชุมชนสุดยอด ที่มีความพร้อมและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ ช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจชุมชน เมื่อวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค 19 คลี่คลาย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะมอบใบประกาศยกย่องและรางวัล ในปลายเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ที่กระทรวง โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งชุมชนคุณธรรมฯบ้านเชียง เป็น 1 ในจำนวน 10 ชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งในภาคอีสาน มี 4 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี 2.ชุมชนคุณธรรมฯบ้านถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู 3.ชุมชนคุณธรรมฯบ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และ 4.ชุมชนคุณธรรมฯบ้านภู ต.บ้านเป้า อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
นายธีทัต พิมพา วัฒนธรรมจังหวัด เปิดเผยว่า ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ได้รับการยกย่องให้เป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ”เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2565 ถือว่าเป็นความสำเร็จของการบริหารของชุมชน ที่ร่วมกันดำเนินการในหลาย ๆ ด้านร่วมกัน โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมกำหนดหลักการ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคื่ลนด้วยพลัง บวร. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยว จากชุมชนคุณธรรม
บ้านเชียง เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญระดับโลก เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณราวห้าพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบในพื้นที่บ้านเชียง ปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัญในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปหลายพันปี แสดงให้เห็นวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งแสดงหลักฐานของการทำเกษตรกรรม แหล่งผลิตและการใช้โลหะในภูมิภาค ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิต ในยุคก่อนประวัติศาสตร์กว่าห้าพันหกร้อยปีที่แล้ว
จากความสำคัญนี้เอง ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ลำดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535
วิถีชีวิตของชาวบ้านเชียง ผูกพันกับอารยธรรมเก่าแก่โบราณ จึงมีการสืบสาน รักษา และต่อยอด ถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถึชีวิต วัฒนธรรมประเพณี เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังวิสัยทัศน์ของชุมชนที่ว่า “อารยธรรมบ้านเชียง ร้อยเรียง ล้ำค่า ภูมิปัญญาไทพวน”
ชุมชนบ้านเชียง จึงเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้ง 5 ด้าน ดังนี้
1.ชาติพันธุ์พวน จากเมืองเชียงขวาง เมืองหลวงของพวนที่อาศัยอยู่ประเทศ สปป.ลาว ต่อมาได้พากันอพยพข้ามแม่น้โขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเชียงในปัจจุบัน
2.การบริหารจัดการชุมชน มีเทศบาลตำบลบ้านเชียง เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยว โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ หลักนิติธรรม, หลักคุณธรรม, หลักความโปร่งใส, หลักความมีส่วนร่วม, หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมเมืองมรดกโลก
3.มีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่มีความโดดเด่น ก้านประวัตติศาสตร์คือหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม คือตัวชุมชนบ้านเชียง เฮือนไทพวน กำแพง Street Art
4. ชุมชนบ้านเชียงมีการจัดรูปแบบของกิจกรรมและการท่องเที่ยวที่โดดเด่น เช่น การจัดท่องเที่ยวตามรอยดินแดนแหล่งอาริยธรรมบ้านเชียง เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม
5.ชุมชนบ้านเชียง มีการนำเอาศิลปะและภูมิปัญญาเก่แก่โบราณ จากหลักฐานต่างๆที่ปรากฎร่องรอยอาริยธรรม มาประยุกต์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น หม้อดินเขียนสี ผ้ายอมครามธรรมชาติ การละเล่นทางวัฒนธรรมพื้นเมือง
นายชุมพร สุทธิบุญ ประธานวิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์บ้านเชียง เปิดเผยว่า ได้รับทราบประกาศของกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องการคัดเลือกสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ประจำปี 2565 และชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง ได้รับการคัดเลือกอยู่ในจำนวน 10 ชุมชน จาก 228 ชุมชนทั่วประเทศ ถือว่าเป็นความสำเร็จของความร่วมมือ ความสามัคคีร่วมกันของชุมชนบ้านเชียงอีกครั้งหนึ่ง จากความร่วมมือ ความสามัคคีหลายสิบครั้งที่ผ่านมา และไม่ใช่ความสำเร็จของคนใดกลุ่มใดโดยเฉพาะ เพราะทุกภาคส่วน ชาวบ้านบ้านเชียงทุกคน ช่วยกันสร้างสรรค์ร่วมกัน ทำให้ชุมชนบ้านเชียงได้รับการยอมรับจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับชุมชนบ้านเชียงด้วยตนเอง โดยได้รับรางวัลในหลาย ๆ ด้านจำนวนมาก สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชนบ้านเชียงและจังหวัดอุดรธานี
สำหรับเงินรางวัลจำนวน 1 แสนบาท ที่จะได้รับในครั้งนี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการชุมชนบ้านเชียงแล้ว ได้มีความเห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า จะนำเอามาทำการพัฒนาชุมชนบ้านเชียง เพื่อเป็นการต่อยอดให้กับชุมชนบ้านเชียง 3 เรื่องด้วยกัน คือ การปรับปรุงป้ายบอกสถานที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว 3 ภาษาคือ ภาษาไทย อังกฤษ และภาษาจีน การปรับภูมิทัศน์ชุมชนในส่วนที่จำเป็นก่อน เป็นการเพิ่มจากที่ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว และ ในด้านการบริหารจัดการความสะอาด โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เทศบาลตำบลบ้านเชียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.อุดรธานี) และทุกภาคส่วนส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ผมรู้สึกประทับใจกับชุมชนและชาวตำบลบ้านเชียง ที่ร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองจนประสบผลสำเร็ว จนมีชื่อสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศและทั่วโลก ผมในฐานะเข้ามาช่วยเหลือดูแลเป็นเวลา 10 กว่าปี ได้เห็นการร่วมมือ ร่วมใจของชาวบ้านเชียง คือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนได้รับรางวัลมากมาย
ผมเพียงเป็นผู้นำชาวบ้าน หากไม่มีชาวบ้านคอยหนุนหลังร่วมมือ ร่วมใจกันอย่างจริงดั่งที่ผ่านมาแล้ว จะไม่มีทางประสบผลสำเร็จเลย จากผลการดำเนินการได้สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจรากฐาน สร้างความมั่นคงในชีวิต และชุมชน ทำให้เขารักท้องถิ่นและชาติพันธุ์ไทพวนของเขา” นายชุมพรกล่าวทิ้งท้าย