วันนี้(วันที่ 1 ส.ค2565) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างการเชิญนักบินของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD108 เส้นทาง กรุงเทพ (ดอนเมือง)-เชียงราย ที่ลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง (รันเวย์) มาสอบสวน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของคู่มือปฏิบัติงานเมื่ออากาศยานเกิดอุบัติการณ์
ทั้งนี้ตามข้อกำหนดในคู่มือปฏิบัติงานตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ กพท. นั้นเมื่อเกิดอุบัติการณ์ หรือเหตุฉุกเฉินต้องดำเนินการอพยพผู้โดยสายภายใน 90 วินาที หรือน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดอุบัติการณ์ หรือเหตุฉุกเฉินแล้วต้องอพยพในทันที เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
การอพยพผู้โดยสารภายใน 90 วินาทีนั้น จุดเริ่มต้นของภายใน 90 วินาที จะมาจากการพิจารณาสภาพแวดล้อมต่างๆ และการตัดสินใจของนักบิน โดยจะประเมินสถานการณ์ภายนอกว่าขณะนั้นสมควรสั่งอพยพผู้โดยสารหรือไม่ ซึ่งเมื่อสั่งให้อพยพจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วินาที ซึ่งเป็นมาตรฐานการปฏิบัติที่นักบิน และลูกเรือขอทุกสายการบิน ต้องมีการฝึกอบรม และทบทวนทุกๆ 12 เดือนอยู่แล้ว
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ที่นักบินให้ผู้โดยสารรออยู่บนเครื่องบิน โดยไม่สั่งอพยพในทันทีนั้น ทาง กพท. จะยังคงไม่ตัดสินในเวลานี้ว่าเป็นการกระทำที่เหมาะควรมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขอสอบสวนนักบินก่อนว่าสาเหตุ และวิธีที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเป็นอย่างไร
นายสุทธิพงศ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พบเห็นเบื้องต้น คาดว่า สภาพแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาของนักบินที่ไม่ได้สั่งให้อพยพผู้โดยสารภายใน 90 วินาที ได้แก่
1.รถดับเพลิงของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มาถึงที่เกิดเหตุในระยะเวลา 1 นาที ซึ่งถือว่าทำได้ดีมาก เพราะมาตรฐานกำหนดไว้ต้องมาถึงไม่เกิน 2 นาที อีกทั้งนักบินประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือมีควันในอากาศยาน ที่สำคัญมีรถดับเพลิงมาจอดรออยู่แล้ว จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจไม่ได้อพยพผู้โดยสาร
2.ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ ปกติใช้สะพานเทียบเครื่องบิน ไม่ได้มีลักษณะของการลงจากเครื่องและใช้รถบัสมารับเหมือนบางสนามบิน ดังนั้นความพร้อมในเรื่องของรถบัสจึงไม่มี แต่จะมีรถตู้ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 10 คน
ประกอบกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้นมีฝนตกด้วย จึงอาจตัดสินใจให้ผู้โดยสารรออยู่บนเครื่องก่อน อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของนักบินนั้น คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากนักบินอีกครั้ง ถ้าจะให้ตัดสินไปก่อนว่านักบินทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะไม่เป็นธรรมกับนักบิน
เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ เป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง และผู้โดยสารที่เดินทางได้รับผลกระทบทั้งด้านจิตใจ ความกังวล และไม่ได้รับความไม่สะดวกสบาย
อย่างไรก็ตามหากนักบินตัดสินใจสั่งอพยพผู้โดยสารออกมาในทันที ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเสียงร้องเรียนจากผู้โดยสารที่ต้องทนอึดอัดอยู่บนเครื่องบิน ขณะเดียวกันหากสั่งอพยพแต่ไม่มีรถมารับผู้โดยสารออกไปในเวลานั้น ก็อาจเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งเช่นกัน คงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักว่า ในขณะนั้นเหตุใดนักบินจึงต้องใช้วิธีให้ผู้โดยสารรอบนเครื่อง ขอเวลาสอบสวนก่อน
ส่วนกรณีที่ระบุว่าผู้โดยสารห้ามลงมาเดินที่รันเวย์นั้น หากเป็นกรณีปกติจะไม่อนุญาตให้มีการเดินอยู่บนรันเวย์ แต่ในกรณีฉุกเฉินที่อาจต้องอพยพ สามารถเดินบนรันเวย์ได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลรับผิดชอบผู้โดยสารนั้น ตามระเบียบของ กพท. สายการบินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้โดยสารให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ต้องอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ทั้งการเดินทาง ที่พัก และอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ กพท. อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าดำเนินการอะไรบ้าง และที่ดำเนินการไม่ครบเกิดจากปัญหาอะไร