สวัสดีผู้อ่านฐานเศรษฐกิจทุกๆ ท่านครับ พบกันครั้งแรกกับคอลัมน์ “รอบด้านการนิคมฯ” กับผม รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ที่จะมาบอกเล่า แชร์ประสบการณ์ และข้อมูลต่างๆ จาก กนอ. อย่างรอบด้านให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันในทุกๆ เดือนครับ
สำหรับเดือนนี้มีประเด็นสืบเนื่องจากเหตุการณ์พายุฝน ที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งเดือน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ สูงขึ้น และสะสมในปริมาณมาก จนก่อให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายว่า จะเกิดมหาอุทกภัยเหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่
ทั้งนี้ ผมได้รับนโยบายจากท่าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านได้สั่งการให้ กนอ. กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเคร่งครัด และเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ เพื่อป้องกันอุทกภัย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างที่หลายฝ่ายมีความกังวล
ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการเฝ้าระวัง และ 2. มาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ดังนี้
มาตรการเฝ้าระวัง : 1. สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2. ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ 3. ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100% 4. สูบระบายพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด ให้มีพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด
5. ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6. ให้มีการประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง
7. กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 8. กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมฯ มากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานกลับมาที่ผมหรือผู้บริหาร กนอ.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
มาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน : ได้มีการเตรียมพร้อมสูบระบายน้ำออกนอกพื้นที่นิคมฯ เต็มกำลังทุกสถานีสูบน้ำ ประสานหน่วยท้องถิ่นชลประทานจังหวัดเพื่อขอการสนับสนุนในด้านอุปกรณ์และการสูบระบายน้ำภายนอกนิคมฯ ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณน้ำฝน คาดการณ์ปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่ และมีการสื่อสารรายงานสถานการณ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ
สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้ คือ พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ในช่วง 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ที่จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และตกหนักมากบางแห่ง คือ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล และภาคตะวันออก
พายุลูกนี้อาจมีผลกระทบต่อปริมาณแม่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรามีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลาง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง
ทั้งนี้นิคมดังกล่าวได้มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้ระดับความสูงพอสมควร แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนพระรามหก อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดให้มีการตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง
และสำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ที่อาจเกิดฝนตกหนัก ก็ต้องมีการเฝ้าระวังพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมบางปู เนื่องจากสามารถรองรับและระบายปริมาณน้ำได้ไม่มาก หากมีฝนตกหนักเกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง อาจเกิดน้ำเอ่อล้นผิวการจราจรประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งหากได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน ก็จะทำให้การระบายน้ำออกจากนิคมฯ ทำได้ช้ากว่าช่วงเวลาปกติ
อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้กำชับให้ทุกนิคมฯ ประสานหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รวมถึงประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ช่วยเร่งผลักดันการระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้โดยเร็วที่สุด
มาตรการป้องกันอุทกภัยระยะยาว : ในแต่ละนิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังจะมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนิคมฯ ที่อยู่ในเขตชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่ กนอ.ได้อนุมัติงบดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วม โดยจะใช้เวลา 2 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคม 2565 และจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567
ซึ่งจะประกอบไปด้วยกำแพงกั้นน้ำ 1.90 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำในนิคมฯ ตลอดจนติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติภายในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และการสื่อสารแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที
กนอ. ให้ความสำคัญกับสถานการณ์น้ำในปีนี้เป็นอย่างมาก และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ผมมั่นใจว่ามาตรการของ กนอ. ที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดนี้ จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ กนอ.เท่านั้น หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ และกรมชลประทาน ต่างร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำในปีนี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด