ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 เรื่องเศรษฐกิจไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก ว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะท้าทายกว่าปีนี้ โดยวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเริ่มเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็คงหนีไม่พ้นจากภาวะนี้
“เศรษฐกิจปีนี้ว่ายาก แต่ปีหน้าจะยากกว่า เพราะวิกฤตจะเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคการส่งออก การผลิต การจ้างงาน และบริษัทต่าง ๆ โดย Recession หรือ เศรษฐกิจถดถอย จะเกิดขึ้นในปีหน้า และถ้าเราไม่ทำอะไรก็มีโอกาสมากที่เราจะก้าวไม่พ้นเหว เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นในโลกยังไงก็เกิดกับประเทศไทยแน่ ๆ” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ
ทั้งนี้สัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทย เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2565 เมื่อหักฤดูกาลออกไป ได้ลดลงติดต่อกันแล้ว 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยังถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นเท่านั้น ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดระบุถึงการบริโภคในประเทศ 2-3 เดือนเริ่มนิ่ง ดังนั้นเมื่อส่งออกเริ่มแผ่ว และบริโภคไม่ขยับ จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ไทยต้องเร่งหาทางบริหารจัดการ
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างในปีหน้า คือ กลุ่มประเทศ Emerging Market หรือ เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ เช่น สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา เอลซัลวาดอร์ อียิปต์ กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และยุโรปบางประเทศ จะเกิดปัญหาทางการเงินของประเทศ และจะได้รับผลกระทบหนักจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 8.3%
โดยประเมินว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังไม่จบลงง่าย ๆ เฟดยังส่งสัญญาณว่าจะขึ้นไปจนสูงสุดที่ 4.6% ในช่วงปีหน้า ซึ่งในช่วง 3 เดือนจากนี้ เชื่อว่า เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก เพื่อสกัดเงินเฟ้อครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี
“การสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกือบ 9% แล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 4.6% ถามว่าเอาอยู่ไหม เพราะตอนนี้เพิ่งเริ่มและยังไปข้างหน้าอีกพอสมควร ดังนั้นสถานการณ์จากนี้ไปเป็นเรื่องไม่ง่าย และเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องใช้ยาแรงพอสมควร เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5% เป็นอย่างน้อย” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยเอง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ถือเป็นการปรับขึ้นมา 2 ครั้ง และจากนี้เชื่อว่าน่าจะปรับเพิ่มอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปีหน้า เพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2566 และจากนั้นคงน่าจะชะลอลง
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการบริหารนโยบายปีหน้า สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการถนอมทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยไว้รองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกลางปีหน้า ส่วนการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่า ถ้าเงินบาทอ่อนค่าจากสาเหตุการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่น่ากังวลมาก และอีกมุมยังช่วยภาคการส่งออก เกษตร สินค้าไทย และการท่องเที่ยวด้วย
“ถ้าวิกฤตมาถึง Emerging Market กลางปีหน้า ไทยต้องไม่ทำตัวเป็นเหยื่อไปด้วย เงินสำรองต้องถนอมเอาไว้รับความท้าทายในปลายปีหน้า และในปีหน้า การท่องเที่ยว จะเป็นหัวใจสำคัญให้ไทยมีกำลังเดินไปข้างหน้า จีนน่าจะเปิดประเทศ ช่วงนี้รัฐควรหางบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ไปโฆษณาในจีน พร้อม ๆ กับส่งเสริม LTR ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน เร่งโครงการ PPP และส่งข่าวเหล่านี้ให้ทั่วโลกเห็นประเทศไทย” ดร.กอบศักดิ์ ทิ้งท้าย