รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการ กรณีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
โดยสาระสำคัญเรื่องหนึ่ง กระทรวงยุติธรรมได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปผลการประชุมมีข้อเสนอแนะให้มี "วันใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ" (National Safer Internet Day) โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้สรุปผลการประชุมว่า ด้านกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ในประมวลกฎหมายอาญาโดยให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักนำร่างบทบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้
ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางด้านข้อมูลและพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูล โดยกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการติดตามและการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งได้ 2 ระดับ คือ
ด้านสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อนำไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการปราบปรามคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แผนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติระยะที่ 1 (ปี 2563 – 2565) โครงการ “โรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์” การพัฒนา ซอฟแวร์ E - learning และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
รวมทั้งมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน และศูนย์ Fake News เพื่อตรวจสอบความเท็จจริงของข่าว และด้านการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสร้างความตระหนักรู้
โดยมีเนื้อหาที่นำมาให้ความรู้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลความรู้เกี่ยวกับกรณีเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด เช่นเดียวกับมีการปิดกั้นช่องทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ที่มีต่อเด็กและเยาวชน