จับตา “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

24 ต.ค. 2565 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 09:27 น.

“ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 ป่วน นบข.เผย กรมการค้าภายใน บีบจ่ายชดเชยใหม่ ปรับวงเงินกู้ ไม่ให้เกินเพดานก่อหนี้ฯ วงการกังขา ธ.ก.ส. ตั้งงบ 2 พันล้าน กันขาดทุนจำนำยุ้งฉาง ชี้ไม่จำเป็น แนะให้ตัดทิ้ง สมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ เตรียมคณะลงพื้นที่สำรวจข้าวภาคอีสานรอบ 2 ปี ลุ้นไม่เสียหายมาก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2565 (คลิกอ่าน) มีมติสำคัญคือให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 โดยใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมา  วงเงินงบประมาณรวม 86,740.31 ล้านบาท จ่าย 33 งวด มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 4.689 ล้านครัวเรือน 

 

เดิมกำหนดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินงวดแรก วันที่ 19 ตุลาคม 2565 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2565 แต่ยังไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ได้ เนื่องจากกระทรวงการคลังพิจารณาเพดานก่อหนี้สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 28 เพื่อไม่ให้กระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศนั้น

 

จับตา “ประกันรายได้ข้าว”  ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

 

นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตนได้สอบถามไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  ถึงสาเหตุที่ยังไม่นำเรื่องประกันรายได้ข้าวปี 4 เข้าที่ประชุม ครม. ได้รับคำตอบว่า อยู่ระหว่างการปรับวงเงินกู้ใหม่เพื่อไม่ให้เกินเพดานก่อหนี้ฯ  ซึ่งอาจจะมีการปรับตัวเลขจ่ายชดเชยประกันรายได้ข้าวใหม่ เนื่องจากวงเงิน 86,740.31 ล้านบาท สูงเกินไป ขณะที่เวลานี้ราคาข้าวในตลาดปรับขึ้นทุกชนิด การจ่ายชดเชยไม่น่าถึงอยู่แล้ว

 

 

สอดคล้องแหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวว่า กรมการค้าภายใน ไปตั้งจ่ายชดเชยโดยตั้งราคาฐานจากปี 2564/2565 ที่มีราคาฐานสูง และเป็นปีที่ผิดปกติ เพราะ 1.เงินบาทแข็งค่า 2.มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด -19 3.ค่าระวางเรือเพื่อส่งออกสูง ยกตัวอย่างข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ตั้งจ่ายชดเชย 4,000 บาทต่อตัน ได้ปรับลดให้เหลือ 2,000 บาทต่อตัน

 

 

จับตา “ประกันรายได้ข้าว”  ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

 

เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกเหนียวปีนี้ราคาดีมาก  ข้าวเกี่ยวสด อยู่ประมาณกว่า 9,300 บาทต่อตัน และคาดการผลผลิตข้าวเหนียวปีนี้ไม่มาก ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาดีมากเกี่ยวสดอยู่ประมาณกว่า 9,000 บาทต่อตัน ปรับลดจ่ายส่วนต่างลงมาจาก 2,000 บาท เหลือ 1,000 บาท เช่นเดียวกับข้าวเปลือกเจ้า

 

 

จับตา “ประกันรายได้ข้าว”  ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

 

“ขณะเดียวกันโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2565/2566 หรือ จำนำยุ้งฉางหากปรับเป้าใหม่ ไม่เกิน 2 ล้านตัน จากเดิม 2.5 ล้านตัน  และที่สำคัญได้ตั้งงบเผื่อขาดทุนของ ธ.ก.ส. 2,000 ล้านบาท ไม่จำเป็นเลย ไม่ควรใส่ เพราะจำนำยุ้งฉาง ประเมินต่ำกว่าราคาตลาดอยู่แล้วจะขาดทุนตรงไหน"

 

ยกตัวอย่าง ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคาจำนำอยู่ที่ 5,400 บาทต่อตัน ราคานี้ชาวนาต้องขายเกี่ยวสด อยู่ที่ 3,000 บาทต่อตัน  ไม่มีอยู่แล้วราคานี้ ควรใส่แค่ค่าบริหารจัดการเท่านั้น เมื่อปรับลดการจ่ายชดเชยข้าว 5 ชนิดใหม่ ปรับเป้าใหม่จำนำยุ้งฉาง พร้อมกับตัดงบเผื่อขาดทุน ธ.ก.ส.ออก น่าจะอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะได้ หากจะเคาะราคาเกณฑ์อ้างอิงจ่ายชดเชย ควรยึดไทม์ไลน์เดิม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกษตรกรตกขบวน

 

 

จับตา “ประกันรายได้ข้าว”  ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

 

สอดคล้องกับนายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน และในฐานะคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66  กล่าวว่า ปีที่แล้วมีช่วงแรก และมีบางช่วงที่เงินขาด รอเข้า ครม.เพิ่มเติม กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาฯ นบข. จะเคาะราคาไปก่อนเพื่อให้ชาวนาได้เงินตามราคาเป็นจริงในราคาตลาด แต่ถ้าจะมาเคาะราคาภายหลังเกรงจะทำให้ชาวนาเสียโอกาส หากรอให้ครม.ผ่าน ราคาข้าวสูงเกินจริง ชาวนาจะไม่ได้เงินจ่ายชดเชยเลย หรือชดเชยน้อยกว่าความเป็นจริง ดังนั้นอยากให้เริ่มเคาะราคาไปก่อนเพื่อใช้เกณฑ์การจ่ายชดเชยในแต่ละงวดไปพลางก่อน

 

จับตา “ประกันรายได้ข้าว”  ปี 4 ปรับวงเงินกู้ใหม่ ก่อน เข้า ครม. วันพรุ่งนี้

 

ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายนนี้ทางสมาคมฯจะนำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปสำรวจภาวะผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/2566 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังโควิดคลี่คลาย ในเบื้องต้นจากการประเมินผลผลิตไม่น่าห่วงมาก เพราะปีนี้ฝนมาดีตลอดโดยเฉพาะภาคอีสานไม่มีแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเลย เพราะฉะนั้นพื้นที่การเพาะปลูกน่าจะมากขึ้น และผลผลิตน่าจะดี ส่วนภาคกลางน้ำที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ คาดเกี่ยวข้าวกันหมดแล้วก่อนฤดูน้ำหลาก ไม่ได้มีปัญหาอะไร

 

 

“เป้าหมายส่งออกข้าวปีนี้ 7.5 ล้านตันคาดได้แน่ ส่วนจะถึง 8 ล้านตันหรือไม่ ต้องรอดูอีกสักระยะ แต่ในช่วงนี้ส่งออกข้าวไทยได้อานิสงส์จากอินเดีย เพิ่มภาษีส่งออก ทำให้ราคาข้าวส่งออกของอินเดียแพงขึ้น โดยขยับเข้ามาที่ 373-377 ดอลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวไทย (ข้าวขาว) ขายอยู่ประมาณ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากเมื่อก่อนห่างกันถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน เช่นเดียวกับปากีสถานเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลทำให้ราคาส่งออกปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับอินเดีย ซึ่งแม้ราคาจะถูกกว่าข้าวไทย แต่ก็ทำให้ไทยขายข้าวได้มากขึ้น ยกตัวอย่างบังกลาเทศ มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ก็หันมาซื้อจากเอกชนไทยเพิ่มขึ้น เป็นต้น”

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23-26 ตุลาคม พ.ศ. 2565