พลิกแฟ้มประกันรายได้ข้าวของรัฐบาล 3 ปีย้อนหลัง ในปีแรกโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจากปี 2562/63 วงเงิน ประมาณ 20,000 ล้านบาท ปี 2563/64 วงเงินประมาณ 49,000 ล้านบาท และปี 2564/65 วงเงินประมาณ 88,711.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่วนปี 2565/66 ประมาณ 86,740.31 ล้านบาท ลดลง 2.22% ซึ่งยังไม่รวมกับยอดที่รัฐบาลค้างจ่ายหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นเงินถึง 850,956.9247 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
ก่อนหน้านี้ (24 พ.ย.64) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลังขยายเพดานหนี้ในมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในส่วนการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 30% เป็น 35% เป็นเวลาชั่วคราว 1 ปี ส่งผลให้ภาครัฐจะก่อหนี้ได้เพิ่มอีกประมาณ 1.55 แสนล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการประกันรายได้
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานะทางการคลังของประเทศเวลานี้ไม่ค่อยดี ไม่เห็นด้วยกับการขยายเพดานเพื่อก่อหนี้ภาครัฐเพิ่ม เนื่องจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรไม่ใช่เพื่อให้เกษตรกรมีกำไร แต่หลักการเดิมคือ ช่วยเพื่อไม่ให้ขาดทุน ขายได้ราคาที่เป็นธรรม แต่นักการเมืองกลับนำไปบวกเป็นกำไร
“การช่วยเพื่อให้มีกำไรเพิ่ม เอาเงินภาษีคนอื่นมาจ่ายให้เกษตรกรถือว่าผิดหลักการ แต่ต้องช่วยเมื่อราคาข้าวตกตํ่าซึ่งเมื่อราคาข้าวตกตํ่าก็จะได้รับการชดเชยส่วนต่างจากราคาประกันมากอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปขยายเพดานหนี้เพื่อนำมาช่วย ซึ่งเป็นคนละเรื่อง เวลานี้ฐานะการคลังของประเทศก็ไม่เอื้ออำนวย ขนาดค่าจ้างขั้นตํ่ายังไม่กล้าปรับ ซึ่งหากปรับให้เพิ่ม 5-6% ตามอัตราเงินเฟ้อก็ถือว่าเก่งแล้ว ซึ่งการจะปรับขึ้นนายจ้างยังจะไม่ยอมเลย แต่นี่กำลังควักเงินจากผู้เสียภาษี แล้วเงินนี้ต้องนำไปใช้ด้านอื่นด้วย ทั้งด้านการศึกษา สร้างถนน ซ่อมถนน และอื่น ๆ”
ทั้งนี้รัฐบาลควรเน้นช่วยชาวนาในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และช่วยในช่วงราคาขายขาดทุนไม่งั้นจะหลงทาง และทำให้ไม่เกิดการไม่ปรับตัว ตัวเลขผลผลิตต่อไร่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาทรงตัว และตํ่ากว่าประเทศในเอเชีย และยังตํ่ากว่าเนปาล และบังกลาเทศ เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ต่างจากสมัยก่อนชาวนาไทยต้องดิ้นรนขวยขวายที่จะปรับตัว ซึ่งหากรัฐยังดำเนินนโยบายแบบนี้ถือว่าถดถอย เพราะใช้เงินจนเกินงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รับ (1.27 แสนล้านบาท) นี่คือปัญหาที่จะต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา
“ที่สำคัญไม่ควรไปเอาโครงการอื่นมาเติมอีก เช่น การช่วยต้นทุนผ่านกรมการข้าว วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงนี้มองว่าจะเละ และจะสร้างความอ่อนแอให้ชาวนาไทยเพิ่มขึ้น”
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายให้สำรองจ่ายเงินเพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่มีลักษณะเข้าข่ายตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการในภายหลังนั้น
ทำให้ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มียอดลูกหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาลเฉพาะในส่วนของเงินต้นประมาณ 542,000 ล้านบาท ซึ่งในกรณีที่ ธ.ก.ส. ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยเงินต้นเงินดังกล่าวแบบเต็มจำนวน จะทำให้มีดอกเบี้ยเกิดขึ้นจากเงินต้นดังกล่าว และรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยในส่วนของดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ดีทางสำนักงบประมาณ ได้แนะนำให้ทางกระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาจัดทำโครงการและเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่เป็นการอุดหนุนหรือจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรโดยตรงที่ไม่ใช่โครงการสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น แต่ถ้าใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ 2566
ในส่วนของรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจะต้องใช้งบกลางที่มีทั้งหมดมาใช้จ่ายในส่วนนี้ จะทำให้งบไม่เพียงพอในการใช้จ่ายด้านอื่นๆ อย่างไรก็ดีให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยพิจารณาการขออนุมัติงบประมาณในรายโครงการและช่วงระยะเวลาให้มีความเหมาะสม สอดคล้อง และให้ทันต่อระยะเวลาที่ข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2565/66 จะออกสู่ตลาด เพื่อดูแลเกษตรกร
แหล่งข่าวคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ นางกันตวรรณ ตันเถียร ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวไปให้ให้ข้อเท็จจริงถึงแผนการดำเนินงานของกรมการข้าวประจำปีงบประมาณ 2566 และข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี พร้อมทั้งข้อมูลและรายละเอียดโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรผู้ปลูกข้าว พร้อมงานวิจัยที่จะสร้างโอกาสแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ
ขณะที่นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาทั้งประเทศกำลังจับตาความเคลื่อนไหวงบ 2 ก้อน ทั้งเงินไร่ละ 1,000 บาท รับสูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นบาท และไร่ละ 700 บาท รับสูงสุดไม่เกิน 3,500 บาท ซึ่งต่างงบ ต่างวาระ หากชาวนาได้รับทั้ง 2 ก้อนถือเป็นเรื่องที่ดี
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,812 วันที่ 25-27 สิงหาคม 2565