ปมปัญหาการประมูลก่อสร้างและเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) กำลังกลายเป็นปมใหญ่ของประเทศที่ต้องพิจารณากันอย่างหนักหลังจากนี้ไป ชนิดที่ไม่ใครก็ใครอันต้องเสียวสันหลังวาบ
แม้ว่าโครงการนี้ การที่เปิดซองการประมูลไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 78,287 ล้านบาท ถือว่าต่ำสุดจากการแข่งประมูลกับอีก 1 กลุ่ม
เนื่องจากกลุ่มคู่แข่งในการการประมูล คือ กลุ่ม ITD Group ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ ด้วยการขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ จากภาครัฐถึง 102,635 ล้านบาท
ราคาที่ทางกลุ่ม BEM เสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ น้อยกว่าคู่แข่งอยู่มากโขถึง 24,348 ล้านบาท
ราคาที่แตกต่างกันแบบนี้ ผมเคยบอกว่า “ชอบธรรม” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จะเดินหน้าเสนอคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาอนุมัติให้ลงนามก่อสร้าง
แต่ทว่า ...เมื่อทาง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2565 ว่า “ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ในช่วงปี 2563 ทางกลุ่มบริษัท BTSC ได้เข้าประมูลและขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 9,676 ล้านบาทเท่านั้น”....ระเบิดลงตูมทันที
ใครก็ตามที่ตัดสินใจให้ BEM ชนะการประมูลไปในวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐ 78,287 ล้านบาท ย่อมถูกตราหน้าทันทีว่า ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน!
ความพยายามของผู้บริหาร รฟม.ที่พยามยามจะออกมาชี้แจงว่า“ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง เป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว….
ดังนั้น ข้อเสนอที่กล่าวอ้าง จึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเอง
....ตัวเลขที่อ้าง จึงไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด” ย่อมฟังไม่ขึ้นทันที
ทำไมนะหรือครับ....ลองพิจารณาเยี่ยงวิญญูชน
ถ้ามีผู้รับเหมาสร้างบ้าน รายหนึ่งมาเสนอราคาสร้างบ้าน ด้วยแบบและอุปกรณ์ตกแต่งแก่ท่านในราคา 5 ล้านบาท ขณะที่ท่านกำลังเจรจาต่อรองอยู่นั้น ปรากฏว่า มีผู้รับเหมาอีก 1 ราย มาประกาศหน้าบ้านท่านว่า บ้านแบบนี้ อุปกรณ์วัสดุตกแต่งแบบนี้ สามารถสร้างบ้านได้มีคุณภาพจริง เสร็จจริง ในเวลาที่กำหนดจริงในราคาแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น...ท่านจะทำอย่างไร
1.เฮ้ย เป็นไปไม่ได้ดอก แล้วลุยจ้าง 5 ล้านบาทต่อไป
2.เฮ้ย บริษัทนี้ทำไม่ได้ ไม่มีมาตรฐาน จ้างต่อไปที่ 5 ล้านบาท
3.เฮ้ย ทำไมราคาต่างกันถึง 4 ล้านบาท จากนั้นจึงเรียกผู้รับเหมามาสอบถาม พิจารณารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง
นี่ขนาดบ้านท่าน ผมเชื่อว่าทุกคนจะตอบได้ว่าจะทำอย่างไร!
คราวนี้ถ้าเป็นเรื่องงบประมาณภาครัฐ ภาษีประชาชน และเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของคนหมู่มาก แล้วความแตกต่างของ “ราคาการจ่าย” แตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท....ท่านจะตัดสินใจอย่างไร
ปัดปฏิเสธที่จะรับฟัง เดินหน้าลุยเซ็นสัญญาจ้างให้กับคนที่ยื่นประมูลราคาต่ำสุด แต่กลับเป็นว่าราคาแตกต่างกันลิบลับกับผู้ที่เคยยื่นซองประกวดราคามาก่อนไปกระนั้นหรือ?
ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้ เป็นปมสำคัญที่จะทดสอบการตัดสินใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่า รัฐบาลนี้ไม่มีการคอร์รัปชัน โดยเด็ดขาด
ถ้าลุยไฟไปผมรับประกันว่า ไม่ใครก็ใครเจอมรสุมการฟ้องร้องดำเนินคดีแน่นอน
ด้วยผลประโยชน์ของประเทศที่จ่ายแตกต่างกันมหาศาล
ด้วยการล้มการประมูล ด้วยการเขียนTOR การประมูลใหม่
และด้วยการไม่ตรวจสอบให้รอบคอบว่า ด้วยเรื่องคุณสมบัติของคู่แข่งการประมูล ที่ศาลตัดสินว่ากรรมการผู้มีอำนาจมีความผิดและสั่งจำคุก ซึ่งขัดกับกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯลฯ
ด้วยราคาที่แตกต่างกันมหาศาล ขนาดว่าสามารถนำส่วนต่างไปสร้างรถไฟฟ้าได้อีกอย่างน้อย 2 เส้นทาง ฯลฯ
เหตุและผล ที่ผมหยิบยกมาสามารถนำมาหักล้าง และยกมาฟ้องร้องทางคดีได้หมด!
เขียนแปะข้างฝาไว้เลยครับ... รัฐมนตรี ในรัฐบาลท่านใด พรรคใดที่เดินหน้าลงมติในเรื่องนี้ไป จะเจอมลทินว่าด้วย 6.8 หมื่นล้าน มารังควาญไม่หยุดหย่อนแน่นอน!
จิ้งจกทัก ผู้คนยังเหลียวหลัง ...นี่มีผู้รับเหมามาบอกว่า “ราคาที่ขอรับการสนับสนุนสุทธิจากรัฐในการก่อร้างโครงการและเดินรถไฟฟ้าเส้นนี้รวม 1.2 แสนล้านบาทนั้น ขอรับการจ่ายจากรัฐแค่ 9.8 พันล้านบาทเท่านั้น และขอยืนยันว่า เป็นราคาที่ทำได้จริง”
แต่กลับไม่มีการทบทวน ไม่มีการนำมาเทียบเคียง
จำกันได้หรือไม่ คดีจำนำข้าวอันลือลั่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา
ในคำพิพากษาฉบับเต็มมีจำนวน 71 หน้า ส่วนที่เกี่ยวกับคำพิพากษา ในความผิดของ นางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ช่วงท้ายหน้า 69 ถึงหน้า 70 ใจความว่า...
“ในส่วนการระบายข้าว ที่แอบอ้างว่า เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐก็เช่นเดียวกัน จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการกำกับดูแล การระงับยับยั้ง หรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว
แต่จำเลยกลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาออกโดยแจ้งชัดอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายบุญทรง (เตริยาภิรมย์) กับพวกแสวงผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัท GSSG และ บริษัท Hainan grain เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาต่ำกว่าท้องตลาดตามประกาศของกรมการค้าภายใน
แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในความหมายตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 4 …
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 123/1
ศาลจึงพิพากษาว่า “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม ) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี “
นี่คือกรรมอันเกิดจากการกระทำของผู้เป็นรัฐมนตรี ที่มีอำนาจ หน้าที่ แต่ไม่ได้กระทำครับ!