ธปท. ตั้งเป้าเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ใน virtual bank พร้อมลดกรอบแบงก์เดิม

14 พ.ย. 2565 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2565 | 16:17 น.

ธปท. ฉายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน ตั้งเป้าเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ ใน virtual bank พร้อมลดกรอบแบงก์เดิม บนทิศทางของ Digital , Sustainable, Resilient 

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บรรยาย ในหัวข้อ “เปิดโลกนวัตกรรมทางการเงิน ในอีก 3ปี ข้างหน้า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของหลักสูตร "Wealth of Wisdom" หรือ “WoW” หลักสูตรเพื่อขุมทรัพย์แห่งปัญญา ว่า สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยากเห็นในอีก 3 ปีข้างหน้า เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงิน คือ การที่สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์ และ non-bank สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินได้อย่างปลอดภัย มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน

 

พร้อมสร้าง Virtual bank รายใหม่ที่ไม่จำกัดเพียง ภาคธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ ภาคธุรกิจที่มีความพร้อม และ และมีข้อมูลใหม่ๆ สามารถเข้าร่วมได้ 

 

โดย ธปท. ตั้งเป้าสร้าง virtual bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล โดยผู้เล่นใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมทางการเงิน และบริการในรูปแบบใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มความยืดหยุ่น ในการดำเนินธุรกิจ และยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ให้กับผู้เล่นเดิม 

โดย virtual bank มีลักษณะสำคัญ คือ 1) ไม่มีสาขา แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ 2) ใช้เทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเริ่มตั้งแต่ การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน 

 

ดร.รุ่ง ได้กล่าวถึง การปรับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน ของ ธปท. ว่า ในอดีต ธนาคาร คือผู้ที่สามารถปฏิบัติตาม กฎระเบียบได้อย่างดีเยี่ยม และยังมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจสูง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ทำให้ธนาคารไม่สามารถทำอะไรได้เท่ากับ ผู้เล่นรายอื่นๆ

 

ธปท. จึงเห็นว่า ควรปรับให้ธนาคาร สามารถทำอะไรได้มากขึ้น ภายใต้บริบทที่ควบคุมความเสี่ยงได้ เนื่องจากเชื่อว่า ธนาคารจะสามารถช่วยยกระดับ market conduct หรือ การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมได้ โดยสามารถให้ธนาคาร ทดลองดำเนินการกับลูกค้ากลุ่มแคบๆก่อน ในรูปแบบของ sandbox ผ่านแนวนโยบาย 3O 1R บนทิศทางของ Digital , Sustainable, Resilient 

  • Digital คือ เปิดให้พัฒนานวัตกรรม แต่ต้องบริหารความเสี่ยงได้ และไม่ผูกขาด 
  • Sustainable คือ สนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวได้ โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง
  • Resilient คือ ส่งเสริมนวัตกรรม และกำกับดูแลความเสี่ยงสำคัญ ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพ

 

โดย มีสิ่งที่ ธปท. คาดหวัง ในประเด็นต่างๆ คือ 
Open Infrastructure : มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน มั่นคง ปลอดภัย สามารถเชื่อมต่อกันได้ (interoperability) เปิดให้ผู้ให้บริการ ที่หลากหลายได้ใช้ประโยชน์ ด้วยราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมและการให้บริการ ที่ตอบโจทย์ประชาชนและธุรกิจได้ดีขึ้น และสนับสนุนแนวนโยบายเพื่อเร่งให้ไทยเข้าสู่ less-cash society และเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การพัฒนาให้ SME สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้มากขึ้น ในราคาที่เหมาะสม ซึ่ง ธปท. กำลังดำเนินงาน ภายใต้ชื่อ Prompt Biz ตั้งเป้าให้มี SME เข้าร่วม 3,000 ราย ภายในปี 2567


Open Data : มีระบบนิเวศข้อมูลที่เอื้อให้ประชาชน และภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองที่อยู่กับผู้ให้บริการต่าง ๆ ในการเลือกใช้ หรือย้ายผู้ให้บริการทางการเงินได้โดยสะดวก ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อและ นำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน ได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงรายการเดินบัญชีของผู้ต้องการขอวีซ่าได้โดยตรง หรือ การเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างผู้ใช้งานธนาคาร กับโทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการในการขออนุมัติสินเชื่อ โดยประเมิณจากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ เป็นต้น 

ซึ่ง ดร.รุ่ง กล่าวว่า ข้อนี้ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ประเทศไทยปราศจากกฎหมายบังคับ และหากผู้ครอบครองข้อมูล เล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ กับต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สมกัน ก็จะไม่เกิดความร่วมมือขึ้น

 

Open Competition : เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายเดิมและรายใหม่สามารถพัฒนานวัตกรรม และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ และช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ไม่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว