ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 6 ธันวาคม 2565 รับทราบรายงานความคืบหน้า การพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เพื่อให้ประชาชนสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทั้งกับหน่วยงานรัฐและเอกชน นอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขต หรืออำเภอเพื่อรองรับการลงทะเบียนในการพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเองโดยใช้ภาพใบหน้าตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance Level: IAL) ที่ระดับ IAL 2.3
โดยน.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าดังกล่าวว่า ระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัลที่กำลังพัฒนา ประกอบด้วย 2 ระบบ คือ
- ระบบ FVS หรือ Face Verification Service และการตรวจสอบภาพใบหน้าใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมภาพใบหน้าเพื่อตรวจสอบกับระบบ FVS
- DOPA-Digital ID และแอปพลิเคชัน D.DOPA
ซึ่งความคืบหน้าดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย และ ด้านเทคโนโลยี สำหรับความคืบหน้าด้านกฎหมาย อาทิเช่น
- มาตรา 8 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ซึ่งบัญญัติว่า “การยืนยันตัวตนจะกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่นนอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางก็ได้ ถ้าวิธีอื่นดังกล่าวนั้นจะเป็นการสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้น”
- ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติถึง การกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานกรอบการขับเคลื่อน และแผนปฏิบัติการ การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (2565-2567) โดยมีรายละเอียดกลยุทธ์หลัก 8 หลักการ คือ
- Digital ID ครอบคลุมบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ พร้อมรองรับการยืนยันตัวตน การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจ และการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ประชาชนสามารถเลือกใช้ Digital ID ในระดับความเชื่อมั่นที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน
- กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider: IdP)
- การใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของนิติบุคคลเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลผ่าน Digital ID
- ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลโดยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน ด้วยมาตรฐานสากลแบบเปิด
- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดนโยบาย Digital ID ในภาพรวม
- สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนได้มาตรฐานสอดคล้องกันและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้