กระแสการ “ยุบสภา” เริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนว่าได้ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง โดยภารกิจสำคัญของรัฐบาล ณ ตอนนี้ คงเหลือแค่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หรือ "งบฯปี67" ให้เสร็จสิ้นตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้เท่านั้น
ล่าสุดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยเห็นชอบไว้ ก็ดำเนินการมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) เป็นที่เรียบร้อยและจะเสนอให้ที่ประชุมครม. เห็นชอบในวันนี้ (27 ธันวาคม 2565)
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ได้เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง บรรจุเข้ามาอยู่ในวาระเพื่อพิจารณาของครม. พร้อม ๆ กับ ข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้เสนอการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2566 เข้ามาในคราวเดียวกัน
ความสำคัญของการนำเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง เข้ามายังครม.ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพราะภายใต้แผนฉบับนี้ได้กำหนดวงเงินงบประมาณปี 2567 เอาไว้เบื้องต้นแล้ว ทั้ง ประมาณการรายได้สุทธิประมาณการงบประมาณรายจ่าย การขาดดุลงบประมาณ และยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ว่า หากงบประมาณปี 2567 ผ่านการอนุมัติจากครม.แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งทันที
“เหตุผลของการที่นายกฯเลือกยุบสภา หลังงบฯปี 67 ผ่านการอนุมัติจากครม. ก็เพื่อให้การจัดทำงบฯไม่สะสุด รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาสามารถเสนองบฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่พิจารณาและประกาศใช้ได้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบ 67 ให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุ
ทั้งนี้ตามปฏิทินการจัดทำงบฯ ปี 67 กำหนดระยะเวลาว่า หลังจากครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางแล้ว ในวันที่ 4 มกราคม 2566 จะมีการประชุม 4 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด
หลังจากประชุม 4 หน่วยงานเสร็จสิ้น ในวันที่ 12 มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณกับทุกหน่วยงานราชการ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก่อนให้หน่วยงานต่าง ๆ กลับไปจัดทำคำของบประมาณ และส่งมาให้สำนักงบประมาณผ่านระบบ e-Budgeting ภายในวันที่ 27 มกราคม 2566
จากนั้นสำนักงบประมาณ จะพิจารณาและจัดทำรายละเอียดงบประมาณ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 7 มีนาคม 2566 เพื่อนำเสนอครม.เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณ พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ ในวันที่ 14 มีนาคม 2566 และในขั้นตอนต่อไป สำนักงบประมาณ จะพิจารณาปรับปรุงรายละเอียด และเสนอให้ครม.เห็นชอบการปรับปรุงอีกครั้ง ในวันที่ 28 มีนาคม 2566
ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้น สำนักงบประมาณ จะไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 12 เมษายน 2566 ก่อนสรุปครม.รับทราบการรับฟังความคิดเห็น และเห็นชอบให้จัดพิมพ์ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และเอกสารประกอบ เพื่อเสนอครม.เห็นชอบในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้สามารถใช้ได้ทันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้จากการตรวจสอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับเดิมเคยระบุวงเงินเอาไว้ ดังนี้