การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบออนไลน์ กรมสรรพากรได้กำหนดข้อตกลงให้ผู้ยื่นแบบภาษี ต้องยินยอมให้กรมสรรพากรนำข้อมูลจากระบบ My Tax Account ดังต่อไปนี้มาแสดงในระบบ e-Filing
ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องยินยอมให้กรมสรรพากรตรวจสอบ
- เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีการจ่ายผ่านระบบ GFMIS ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ดังกล่าว และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากกรมบัญชีกลาง
- ค่าลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้ บิดามารดาคู่สมรสของ ผู้มีเงินได้ และบุตรของผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นข้อมูลการใช้สิทธิดังกล่าวตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้เสียภาษีในปีภาษีที่ผ่านมาที่กรมสรรพากรได้รับจากผู้เสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 เฉพาะกรณีการยื่นแบบผ่านระบบ e-Filing
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจาก กบข.
- เงินบริจาค ซึ่งเป็นข้อมูลเงินบริจาคผ่านระบบ e-Donation ของกรมสรรพากร
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากกองทุนประกันสังคม
- เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาผู้มีเงินได้และคู่สมรส และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งเป็นข้อมูลตามกฎหมายที่กรมสรรพากรได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย
- เบี้ยประกันชีวิต ซึ่งเป็นข้อมูลตามกฎหมายที่กรมสรรพากรได้รับจากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย หรือธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นข้อมูลตามกฎหมายที่กรมสรรพากรได้รับจากธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย บริษัทประกันชีวิต และ กบข.
- เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติ
ข้อควรรู้ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565
- ข้อมูลที่ผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจ้งต่อกรมสรรพากรนั้น เป็นเพียงบริการข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับและจัดเตรียมเพื่อประกอบการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 เท่านั้น
- ผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องกรอกข้อมูลตามจริง
ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 กรมสรรพากร ห้ามทำสิ่งนี้
- การแจ้งความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรอาจเป็นเหตุให้ได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร
- การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ที่มา: กรมสรรพากร