ขณะที่เทรนด์อาหารแห่งอนาคตในปี 2566 ของโลกและของไทยที่ต้องติดตาม มีอย่างน้อย 9 เทรนด์ที่มาแรง อาทิ อาหารที่คำนึงถึงโลก สภาพอากาศ และความยั่งยืน, Plant based Food โปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากพืช, อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย และ New Functional foods หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหาร หรือคุณค่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีหากเจาะลึก Future Food ในประเทศไทยจะพบว่า ณ เวลานี้กลุ่ม Plant based Food หรืออาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แครอท บีทรูท ฟักทอง และธัญพืชต่างๆ ที่นำมาแปรรูปให้มีรสชาติ กลิ่น และสีสันเหมือนเนื้อสัตว์มาแรง เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการลดการทานเนื้อสัตว์ แล้วหันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชแทน ทั้งในลักษณะผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง และพร้อมรับประทาน
ช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงเวลานี้ ค่ายยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กในวงการอาหารไทยต่างโดดร่วมวงตลาดนี้กันพร้อมหน้า ทั้งเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศ และขยายตลาดส่งออกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ, ซีพีแรม,ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, เบทาโกร,กลุ่ม ปตท.ที่ร่วมทุนกับกลุ่ม NRF, มีท อวตาร, นิธิฟู้ดส์, วี ฟู้ดส์ และอื่นๆ โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทยระบุว่า ตลาด Plant based Food ของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท (หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 60%)
ส่วนตลาดอาหารจากพืช หรือ Plant based Food ของโลกในปี 2565 มีมูลค่าราว 4.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยปีละ 21% คาดในปี 2573 จะมีมูลค่าราว 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนตลาด Plant based Food ในไทย ข้อมูลจาก Euro Stat ระบุในปี 2565 คาดจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท
โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมในกลุ่ม Plant based ได้แก่ นมจากพืช เนื้อจากพืช ไก่จากพืช ขณะที่ตลาดส่งออก Plant based Food ของไทย 5 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มอาเซียน ฮ่องกง จีน กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา
สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ที่ให้ข้อมูลกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2564 ไทยมีการส่งออก Future Food มูลค่า 105,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2563 ส่วน 11 เดือนแรกปี 2565 ไทยส่งออกมูลค่า 119,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25% โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ อาเซียน,สหรัฐฯ,สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร,จีน และออสเตรเลีย สัดส่วน 42%, 16%, 9.2%, 9% และ 4% ตามลำดับ
ทั้งนี้อาหารอนาคต หรือ Future Food ของไทยที่มีการส่งออกมากที่สุด อยู่ใน 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (functional foods and drink) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่ให้คุณค่าอาหารที่จำเป็นให้กับร่างกาย เช่น ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะไม่อยู่ในรูปแบบแคปซูล เม็ดยา แต่จะหน้าตาเหมือนอาหารทั่วไป ซึ่งเป็นการส่งออกในหมวดนี้มากที่สุดที่สัดส่วน 97% โดยช่วง 11 เดือนแรกส่งออกเพิ่มขึ้น 24%
2.อาหารเกษตรอินทรีย์ (organic foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี มีการส่งออกสัดส่วน 1.6% และมีการเติบโตเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 84% สูงสุดในกลุ่มอาหารอนาคต 3. อาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel foods) หมายถึงอาหารรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นนวัตกรรมสูงมาก เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน การเติบโตใน 11 เดือนแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 30%
และ 4. อาหารทางการแพทย์ (medical foods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม แต่เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ โดยมีการส่งออกที่สัดส่วน 0.2% การเติบโตใน 11 เดือนแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 17
ทั้งนี้สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย คาดการส่งออก Future Food ของไทยในปี 2566 จะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ระดับ 1.3 แสนล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง และเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของสินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทยทั้งสหรัฐฯและยุโรปที่มีสัญญาณชะลอตัวถึงถดถอยในปีนี้ อย่างไรก็ดี Future Food ไทย ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาและยกระดับอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป