17 หน่วยงานชงครม. ของบปี 67 ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

23 ม.ค. 2566 | 23:10 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2566 | 03:02 น.

จับตา 17 หน่วยงาน เรียงหน้าทำข้อเสนอชงที่ประชุม ครม. วันนี้ ของบทิ้งทวน ก่อนเลือกตั้ง หวั่นไม่ช้าไม่ทันการ โดยขอให้ช่วยอนุมัติตั้งงบปี 2567 วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มกราคม 2566 มีวาระสำคัญเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องห้ามพลาด หลังจาก 17 หน่วยงานภาครัฐ ได้จัดทำข้อเสนอขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มาให้ครม.เห็นชอบ เพื่อ “ของบทิ้งทวน” ก่อนถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานต่อจากนี้

นับเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากกรอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณปี 2567 ได้ผ่านการเห็นชอบจากครม.ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.35 ล้านล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท กำหนดการขาดดุลงบประมาณ 5.93 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ 3% ต่อ GDP ปรับลดลงจากปีงบประมาณก่อนประมาณ 1.02 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตามในการเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 เข้ามาให้ครม.เห็นชอบในครั้งนี้นั้นฐานเศรษฐกิจได้รวบรวมรายละเอียดการจัดทำข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในวาระเพื่อพิจารณา สามารถสรุปได้ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว ครม.เตรียมพิจารณาข้อเสนอ ของบทิ้งทวน ปี 2567 ก่อนเลือกตั้ง

1.กระทรวงมหาดไทย เสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ

พร้อมทั้งยังเสนอการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกระทรวงมหาดไทยเข้ามาด้วย

2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ในโครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต

3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

4.กระทรวงยุติธรรม เสนอขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

5.กระทรวงสาธารณสุข เสนอขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป (โครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร)

 

ภาพประกอบข่าว ครม.เตรียมพิจารณาข้อเสนอ ของบทิ้งทวน ปี 2567 ก่อนเลือกตั้ง

6.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เสนอโครงการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเริ่มใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

7.สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป "การจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น"

8.สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

9.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงิน ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

10.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

11.สถาบันพระปกเกล้า เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

12.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

13.สำนักงานศาลปกครอง เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

14.สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

15.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

16.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567  

17.สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

 

ภาพประกอบข่าว ครม.เตรียมพิจารณาข้อเสนอ ของบทิ้งทวน ปี 2567 ก่อนเลือกตั้ง

 

จัดทัพเตรียมพร้อมเลือกตั้ง

ความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้นแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ลงนามหนังสือ เรื่อง การเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ส่งถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองแล้ว

โดยระบุว่า เนื่องจากอายุสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือ กรณีมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องจัดให้มีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

ขณะเดียวกันในการประชุมครม. วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นคำใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปด้วย