หอการค้า ถกเลขาฯอีอีซีใหม่ กางแผนโรดโชว์ดึงนักลงทุน

23 ก.พ. 2566 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 04:00 น.

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานหอการค้าฯ เตรียมหารือเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ วันนี้ กางแผนปั๊มมาร์เก็ตติ้ง พร้อมจัดโรดโชว์ดึงนักลงทุน บี้รัฐเร่งเครื่องโครงการเมกะโปรเจกต์

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) หอการค้าฯ เตรียมหารือกับนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คนใหม่ เพื่อร่วมกันหาทางการส่งเสริมการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 

“ที่ผ่านมาเรื่องของการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีหลายโครงการที่เดินหน้าไปแล้ว แต่เรื่องอื่น ๆ ต้องมาดูกันอีกที โดยเฉพาะมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งภาคเอกชนจะร่วมมือกับอีอีซีเพิ่มเติมอีก เพราะตอนนี้เรื่องของมาร์เก็ตติ้งตอนนี้ยังไม่เข้มแข็ง จึงต้องเร่งทำทันทีช้าไม่ได้ โดยเฉพาะในปีนี้ที่รัฐบาลจำเป็นต้องดึงการลงทุนเข้ามาพื้นที่ให้มากที่สุด” นายสนั่น ระบุ

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการอีอีซี ภาคเอกชนเห็นว่ามีความสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และในเร็ว ๆ นี้ ยังเตรียมวางแผนโรดโชว์ เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการและอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ขณะที่การผลักดันการลงทุนภาครัฐในปีนี้ ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ทั้งหมด ตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง

สำหรับความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแต่ละเส้นทางนั้น ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานความคืบหน้า แบ่งเป็น

1.โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา : ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 แผนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 3 สัญญา  

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน : ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมานั้น อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด ขณะเดียวกัน รฟท. และเอกชนคู่สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขสัญญาในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างร่วมควบคู่กันไป โดยคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2566