นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงเป็นฐานลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติอยู่โดยเห็นได้จากเดือนมกราคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 52 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 22 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 14 ราย เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท สิงคโปร์ 6 ราย เงินลงทุน 410 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 6 ราย เงินลงทุน 9 ล้านบาท สหราชอาณาจักร 5 ราย เงินลงทุน 98 ล้านบาท และ จีน 3 ราย เงินลงทุน 548 ล้านบาท
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV) เป็นต้น
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือนมกราคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า ขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การบริการออกแบบทางวิศวกรรมและเทคนิค การติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 8 ราย หรือ15%ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน 683 ล้านบาท หรือ13% ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 5 ราย ลงทุน 632 ล้านบาท จีน 2 ราย ลงทุน 48 ล้านบาท และสหราชอาณาจักร 1 ราย ลงทุน 3 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ บริการเคลือบผิว (Surface Treatment) และ บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะและชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2566 จะมีนักลงทุนชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนเพื่อขยายตลาด การปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศต่างๆ ที่มีการขยายฐานการผลิตของธุรกิจต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจเกษตร อาหาร ชีวภาพ ธุรกิจท่องเที่ยว สุขภาพ และธุรกิจดิจิทัลต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง