"ท่าเรือแหลมฉบัง"ระยะ 3 คาดเปิดบริการปี 68

10 ก.พ. 2566 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2566 | 05:23 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย"ท่าเรือแหลมฉบัง" ระยะ 3 คาดเปิดบริการปี 68 พร้อมเป็นศูนย์กลางระดับเอเซีย รองรับเรือบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เผย ทั่วโลกมีประมาณ 20 ท่า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดำเนินการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย

มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะสามารถขยายความจุท่าเรือตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี (ทั้งระยะที่ 3) 

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,600 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 1.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 6.08 หมื่นล้านบาทและภาครัฐ 4.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสองท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือ F1 และ F2

โดยท่าเรือ F1 ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างทางทะเลแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ขณะที่ท่าเรือ F2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือภายในปี 2570

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นี้ ได้เพิ่มขนาดและความลึกของแอ่งจอดเรือ มีความยาวหน้าท่า 2 กิโลเมตร ความลึก 18.5 เมตร ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงมีระยะกินน้ำลึกเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม

 

นางสาวรัชดา กล่าวถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ด้วยว่า จะมีการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งจะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง จะมีการใช้เทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่จำนวนมาก อาทิ

ระบบยกและขนถ่ายตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle: AGV) ระบบ OCR เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F จะเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางอีกแห่งของภูมิภาคเอเชีย สามารถรองรับเรือขนาดบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่าเรือแม่ได้

และจะมีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ใช้แคร่และหุ่นยนต์ดำเนินงาน ปัจจุบันมีประมาณ 20 ท่าเรือทั่วโลก ที่ใช้ระบบนี้