นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. เตรียมหารือร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ สศช. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการพิจารณาการทำ งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ซึ่งระบุเอาไว้ในร่างบันทึกข้อตกลงร่วม หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด
ทั้งนี้ในเบื้องต้น สศช. มองว่า การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเดิม ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมาหารือ และเร่งศึกษาข้อมูลรองรับการดำเนินการดังกล่าว โดยถ้าต้องทำจริงตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ ก็อาจต้องเริ่มทำในปีงบประมาณ 2568-2569 ส่วนในงบประมาณปี 2567 ตอนนี้การจัดทำร่างงบประมาณได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว แต่การบังคับจะล่าช้าออกไป ดังนั้นจึงต้งเร่งมือทำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่ออัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ
“การจัดทำประมาณแบบฐานศูนย์ ทั้ง 4 หน่วยงาน ต้องศึกษาหาข้อมูลมาวางแผนอีกมาก โดยเฉพาะการศึกษาผลดี ผลเสีย ผลสำเร็จจากบางประเทศ โดยจัดทำงบประมาณในลักษณะดังกล่าว อาจจะเริ่มจัดทำได้ในปีงบประมาณ 2568-2569 และต้องทบทวนโครงการทุก 5 ปี 10 ปี เพราะหากจัดสรรงบประมาณไปให้หน่วยงานแล้ว ไม่เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นต้องทบทวนใหม่” นายดนุชา ระบุ
สำหรับการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทางพรรคก้าวไกล มีแนวทางกำหนดให้จัดงบประมาณโดยจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยไม่ได้จัดทำงบโดยอ้างอิงจากการจัดงบในอดีตเป็นหลักแล้วปรับเพิ่มงบเข้าไปในแต่ละปี แต่อ้างอิงจากความเร่งด่วนและขนาดของปัญหาที่ประเทศเผชิญในแต่ละปีแทน
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ระบุว่าเนื่องจากที่ผ่านการจัดงบประมาณของภาครัฐไม่สะท้อนทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น แผนงบประมาณของภาครัฐ มีแต่การใช้หนี้สร้างถนนหรือแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมมีงบประมาณเพียงแค่หลัก 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting นั้น ที่ผ่านมาในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็กำหนดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของตัวเองด้วย โดยระบุว่า โดยปกติงบประมาณของ กทม.จะใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าเป็นฐานและปรับเพิ่มสำหรับปีงบประมาณใหม่ การทำงบประมาณในลักษณะนี้อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง
ดังนั้น กทม.จะจัดทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting โดยพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการ ไม่ใช่เพียงใช้งบประมาณของปีที่แล้วเป็นฐานเพื่อปรับความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณไปในจุดต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพและความต้องการสูงสุด รวมถึงทบทวนและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงานของ กทม. อีกด้วย