นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณ กังวลว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการให้ประชาชน อาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยเฉพาะการกระทบกับสัดส่วนงบลงทุนลดลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงจะไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน
ทั้งนี้ตามรอบวงเงินงบประมาณ ได้กำหนดรายละเอียดของงบประมาณส่วนต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของวงเงินงบลงทุน ต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมดโดยในปีงบประมาณ 2567 จัดสรรไว้ที่ 6.7 แสนล้านบาท
“จริง ๆ กรอบวงเงินงบลงทุนที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 20% ก็น้อยอยู่แล้ว และไม่อยากให้กระทบกับงบในส่วนนี้ เพราะจะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีคำอธิบายได้ว่านำไปใช้อะไรที่เป็นประโยชน์ในลักษณะเดียวกับงบลงทุนได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะงบลงทุนจะเป็นตัวสะท้อนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีที่สุด”
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ยังประเมินว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีการปรับรายละเอียดงบประมาณปี 2567 แน่นอน และอาจทำให้การจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปจากกำหนดเดิมคือ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ไปประมาณ 6 เดือน หรืออย่างช้าคือในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2568
อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างนี้ เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดการสะดุด สำนักงบประมาณจึงมีการจัดทำงบประมาณไปพลางก่อน ซึ่งมีวงเงินเบิกจ่ายได้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท โดยจะใช้จ่ายได้เพียงแค่งบประจำ และงบผูกพันที่ทำไว้ก่อนหน้า ส่วนงบลงทุนใหม่ยังไม่สามารถใช้ได้
นายเฉลิมพล ประเมินว่า รัฐบาลใหม่น่าจะเข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2566 และก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่จะพิจารณางบประมาณ 2567 อย่างไรบ้าง โดยสำนักงบประมาณจะประสานงานเพื่อเริ่มขั้นตอนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ตามขั้นตอนอีกครั้ง
เบื้องต้นงบประมาณปี 2567 ได้มีการปรับลดลงมาจำนวนมากแล้ว และหากรัฐบาลใหม่ต้องการทำเรื่องไหนก็อาจต้องจัดลำดับความสำคัญมาอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ด้วย