จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่ง
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 8 ข้อ ให้แก่รัฐบาลแล้วนั้น
ฐานเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป.ป.ช. ต่อข้อเสนอแนะของป.ป.ช. ในครั้งนี้ โดยอ.วิชา ระบุว่า การที่ป.ป.ช. เตือนให้ระมัดระวังการทุจริตเชิงนโยบายนั้น ถือเป็นการสะกิดเตือนโดยตรงและแรง
เพราะหากมีการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง จะถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายเช่นเดียวกันกับโครงการจำนำข้าว ซึ่งในขณะนั้น ป.ป.ช. ได้เตือนรัฐบาลถึง 2ครั้ง เพื่อให้รัฐบาลปิดจุดอ่อนทั้งหมดก่อนเริ่มโครงการ ถือเป็นความหวังดีของป.ป.ช.ไม่ใช่เป็นการตั้งตัวเป็นศัตรูแต่อย่างใด ซึ่งทางรัฐบาลได้ยืนยันเดินหน้าโครงการตามที่ได้หาเสียงเอาไว้
ดังนั้นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เป็นเพียงข้อพึงสังวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวเอาไว้ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการกล่าวหาว่าจะต้องมีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้ จะเป็นเหยื่ออันโอชะของพรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับกรณีจำนำข้าวที่ถูกเปิดปากแผลโดยพรรคประชาธิปัตย์ แล้วส่งเรื่องต่อมายังป.ป.ช. นำมาสู่การไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานสั่งฟ้องกรณีทุจริตขึ้น
เทียบ"จำนำข้าว" หากเกิดทุจริต ใครต้องรับผิดชอบ
สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล หากเกิดการทุจริตขึ้นใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั้น อ.วิชา ได้อธิบายเทียบเคียงกับกรณีโครงการรับจำนำข้าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นทั้งฝ่ายอนุมัติโครงการในฐานะนายกรัฐมนตรี และกำกับควบคุมในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ในขณะที่โครงการแจกเงินดิจิทัล ความรับผิดชอบหลักจะตกอยู่ที่ประธานคณะทำงานซึ่งกำกับดูแลโครงการ ซึ่งอย่างไรก็ตามนายเศรษฐา นอกจากดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว ยังนั่งอยู่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย จึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งหากเกิดการทุจริตขึ้น ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก นอกจากนี้ยังเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวทางไว้ว่าผู้เป็นนายกฯ จะต้องรับผิดชอบในทุกกระทรวงด้วย
ข้อเสนอแนะที่ป.ป.ช.จัดทำออกมานี้ ถือเป็นการใช้อำนาจในการป้องกันการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 32 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของป.ป.ช.ในขั้นเบาที่สุดด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น ส่วนอำนาจของป.ป.ช.ที่จะเข้าไปไต่สวนกรณีการทุจริตของโครงการ หรืออำนาจปราบปรามนั้น ต้องมีมูลแห่งการทุจริตมากเพียงพอ มิฉะนั้นอาจถูกร้องว่าเป็นการกลั่นแกล้งได้
ซึ่งรัฐบาลควรมีรายละเอียดของโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ให้ใครเป็นคนทำ , ผ่านรูปแบบใด, มีบริษัทเอกชนรายใดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ , บริษัทเอกชนที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้อง จะมีความสัมพันธ์กับบุคคลใดในรัฐบาลหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่ข้อห่วงกังวลของ ป.ป.ช. ดังนั้นการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล ควรเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และยึดหลักธรรมาภิบาล พร้อมควรตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริตในโครงการขึ้นได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องตรวจสอบต่อไปว่านโยบายที่แถลงต่อรัฐสภานั้นไม่ตรงกันกับนโยบายที่ใช้หาเสียงเสียทีเดียว โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ไปร้องเนื่องจากความปรากฏแล้ว