วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง. ว่า ที่ประชุมได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ใหม่จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงเหลือ 2.5-3% ซึ่งประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล เพราะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของเวลา
สำหรับเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 กนง. ประเมินว่า มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้
“เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 น่าจะขยายตัวต่ำกว่า ธปท.คาดไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัว 2.4% โดยน่าจะปรับลดลงพอสมควร แต่ก็ต้องดูตัวเลขจริงของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะประกาศออกมาด้วย ซึ่งตอนนี้ธปท.ได้ประมาณการภายในชัดเจนว่าแผ่วลงจาก 2.4% พอสมควร และในอีก 2 สัปดาห์จะชัดเจนมากขึ้น"
ทั้งนี้มองว่า เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งการส่งออกและการผลิตที่หดตัว ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริปต่ำกว่าปกติ แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำมากจากงบประมาณที่ล่าช้า อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังเจอปัญหาการฟื้นตัวช้าหลังผ่านโควิด-19 แล้ว แต่ยังโตต่ำและโตช้ากว่าประเทศอื่นด้วย
นายปิติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจิกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่ำ ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ก็อาจถูกกระทบจากการแข่งขัยจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น และอีกอย่างคือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไทยสั้นลง และใช้จ่ายลดลง ปัญหาเหล่านี้ทาง กนง.ได้จับตาดูอยู่ โดยกำลังชั่งน้ำหลักระหว่างปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยทางวัฏจักรทางเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นั้น ประเมินว่า การบริโภคในประเทศนยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนการส่งออกนั้น ในปีนี้ยังมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และในปีนี้ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ เป็นผลมาจากราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า หากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
นอกจากนี้ กนง.ยังมองระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน
ส่วนประเด็นความคิดเห็นเชิงการเมืองของรัฐบาลต่อนโยบายการเงินนั้น นายปิติ ยอมรับว่า ธปท.ก็เห็นว่าเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาข้อมูลให้รอบคอบและรอบด้านมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี อยากให้ลดดอกเบี้ยนั้น นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ก็น้อมรับในความคิดเห็นที่มีประโยชน์เช่นกัน