โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นี้จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางตามแผนเร่งรัดรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน เน้นเพื่อการขนส่งและจัดการโลจิสติกส์ โดยได้คาดการณ์ปริมาณการขนส่งทางรถไฟทั้งผู้โดยสารและสินค้าในปีที่เปิดให้บริการโดยมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 41,390 เที่ยวต่อวันและปริมาณสินค้า 15,720 ตันต่อวัน
ล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) หลังจากนี้ร.ฟ.ท.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินโครงการ จากนั้นจะนำรายละเอียดไปกำหนดราคากลางและจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)เสนอคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.อนุมัติให้เปิดการประกวดราคาโครงการดังกล่าวเพื่อหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการต่อไป คาดว่าจะประกาศขายซองประกวดราคาได้ในเดือนกรกฎาคม 2559 และเมื่อได้ตัวผู้รับจ้างจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี (ประมาณปี 2562)
โครงการนี้เริ่มดำเนินการขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2558 คาดว่าจะได้รับการพิจารณาเดือนกันยายน 2559 สำรวจและประเมินราคาตั้งแต่ตุลาคมนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2560 และจะเริ่มเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 29,667 ล้านบาท รวมระยะทางทั้งสิ้น 131 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงมาบกะเบา-ปางอโศก ระยะทาง 32 กิโลเมตร และช่วงปางอโศก-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 101 กิโลเมตร จำนวนทั้งสิ้น 20 สถานี กรณีวิเคราะห์โครงการระยะ 30 ปีมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 23.97%
สำหรับรูปแบบการลงทุนจะมีความเหมาะสมนั้นก็คงต้องให้ครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยทั้ง 4 รูปแบบที่ร.ฟ.ท.เตรียมนำเสนอ คือ รูปแบบที่ 1 ร.ฟ.ท.ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน งานเครื่องกล และระบบไฟฟ้า ขบวนรถและหัวรถจักร รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการ และให้บริการ รูปแบบที่ 2 คือภาครัฐออกเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งงานเครื่องกลและระบบไฟฟ้า ส่วนร.ฟ.ท.ลงทุนขบวนรถและหัวรถจักร รวมทั้งผู้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ การกำหนดอัตราค่าโดยสารและจัดเก็บรายได้ทั้งหมด
รูปแบบที่ 3 ภาครัฐออกเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดรวมทั้งงานเครื่องกลและระบบไฟฟ้า ส่วนร.ฟ.ท.ทำหน้าที่บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเปิดให้เอกชนลงทุนในส่วนขบวนรถและมีหน้าที่บำรุงรักษาขบวนรถ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ โดยร.ฟ.ท.จ่ายค่าจ้างและค่าเช่าให้เอกชน ร.ฟ.ท.ทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าโดยสารและเก็บรายได้ทั้งหมด และรูปแบบที่ 4 รัฐบาลออกเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งงานเครื่องกลและระบบไฟฟ้า ส่วนร.ฟ.ท.ทำหน้าที่บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนในส่วนของขบวนรถและทำหน้าที่บำรุงรักษาขบวนรถ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและเก็บรายได้จากค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าในอัตราที่ร.ฟ.ท.กำหนด ทั้งนี้ยกเว้นเอกชนจะจ่ายค่าสัมปทานการใช้รางและค่าบริหารจัดการตารางเดินรถให้แก่ ร.ฟ.ท.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559