ชี้เป้าส่งออกอาหารโปรตีนบุกสหรัฐฯ แนะใช้อินฟลูฯ เปิดตลาด 4 พันล้านดอลลาร์

26 มี.ค. 2567 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2567 | 08:27 น.

“ภูมิธรรม” ชี้เป้าส่งออกอาหารว่างกลุ่มโปรตีนขายสหรัฐฯ หลังความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และควบคุมอาหาร ปี 66 มียอดการจำหน่าย 4,800 ล้านดอลลาร์ ดันผู้ประกอบการไทยใช้อินฟลูเอนเซอร์แลแนะนำเปิดตลาดสินค้า

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำรวจโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์นิวยอร์ก ถึงโอกาสของอาหารว่างจำพวกโปรตีน (Protein snack) ในสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโตจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

          ทั้งนี้ ในปี 2566 อาหารว่างจำพวกโปรตีน มียอดการจำหน่ายประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์และในช่วงปี 2567-2572 น่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 9.3% และ Market Data Forecast ยังคาดว่าในปี 2572 ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีนน่าจะมีมูลค่าถึง 7,640 ล้านดอลลาร์

          สำหรับประเภทของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดสหรัฐฯ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  •  ของว่างประเภทแท่ง เช่น เนยถั่วแท่ง โปรตีนช็อกโกแลตชิปแท่ง กราโนล่าแท่งและผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร
  • ของว่างที่ไม่ใช่แท่ง เช่น ธัญพืชผสมผลไม้แห้ง เนื้ออบแห้ง โยเกิร์ต ถั่วเหลืองอ่อน ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบที่ทำมาจากธัญพืช อาทิ  ถั่วชิกพี ถั่วเลนทิลหรือแป้งข้าวกล้อง เนยถั่วแบบพกพา และสมูทตี้ (protein smoothie) เป็นต้น

ส่วนกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและต้องการผนวกโปรตีนเข้ากับอาหาร
  2. กลุ่มบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง เช่น นักกีฬา  
  3. กลุ่มบุคคลที่มีตารางชีวิตค่อนข้างแน่นหรือมีอาชีพการงานที่ค่อนข้างยุ่งวุ่นวาย
  4. กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารและมีความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรต

ชี้เป้าส่งออกอาหารโปรตีนบุกสหรัฐฯ แนะใช้อินฟลูฯ เปิดตลาด 4 พันล้านดอลลาร์

ทางด้านช่องทางการจำหน่าย มีหลายช่องทาง ดังนี้

  • ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Walmart, Target, Kroger และ Meijer
  • ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Wawa และ Casey’s
  • ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ Whole Foods Market, Sprouts Farmers Market และ
  • ช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Amazon และร้านค้าปลีกออนไลน์เฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านขนมเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก 

“จากการเติบโตของอาหารว่างจำพวกโปรตีน เป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ของกินเล่นจำพวกถั่ว หนังไก่อบกรอบ ปลาอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ อาหารว่างที่ทำจากพืชและอื่น ๆ ซึ่งต้องเน้นปริมาณโปรตีนและประโยชน์บนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน และควรหาช่องทางบุกตลาดผ่านออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการทดลองสินค้าใหม่ ๆ ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยรีวิวสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น”นายภูมิธรรม กล่าว