หลังจากคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ได้แถลงข่าวถึงรายละเอียดการแจกเงินดิจิทัลไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ซึ่งในรายละเอียดของการแจกเงินดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงวิธีการแจกงินดิจิทัล สู่ประชาชนว่า จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA
โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงขั้นตอนว่า ประชาชนจะต้องเข้ามาลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ โดยจะเริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 และประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
พร้อมสาเหตุที่ไม่เลือกใช้แอปเป๋าตัง เนื่องจากแอปทางรัฐ เป็นแอปของรัฐจริงๆ โดยเป๋าตังยังเป็นของแบงก์ อย่างไรก็ตาม เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้เป็นระบบข้างหลัง เนื่องจากเป็นระบบ Open Loop เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ DGA อยู่ระหว่างการพัฒนา
แอปฯ “ทางรัฐ” พร้อมดาวน์โหลดแล้ว
แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ถือเป็น Super App ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เป็นศูนย์รวมบริการต่างๆ ที่รวบรวมบริการภาครัฐ ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย ในแอปฯเดียว เชื่อมโยงบริการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ครอบคลุมการติดต่อราชการของประชาชนในทุกช่วงวัย
ขณะนี้แอปฯ “ทางรัฐ” พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้วตั้งแต่วันนี้ โดย สามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store และ Google Play เมื่อติดตั้งแอปฯ เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการสมัครเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ ผ่านการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับขั้นตอนในการสมัครเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ สามารถทำได้ 2 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้
ช่องทางที่ 1 สมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ โดยใช้บัตรประชาชน และการสแกนใบหน้า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย ก็สามาถเข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที
ช่องทางที่ 2 สมัครเข้าใช้งานและสามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสร้าน 7-eleven ทั่วประเทศไทย, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม, ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และ แอปพลิเคชัน ThaID ได้อีกด้วย
ปัจจุบัน แอปฯทางรัฐมี 149 บริการจาก 74 หน่วยงาน และเร็วๆนี้ จะมีบริการใหม่อีกมากมายในทางรัฐ อาทิ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริการจัดชุดสิทธิประโยชน์เฉพาะบุคคล ที่จะแจ้งให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของแต่ละคนที่จะได้รับ พร้อมมีระบบกำกับและติดตามประเมินผลด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้กับประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริการ “SEC Check First” ค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุน สะดวก ง่าย เชื่อถือได้ ทั้งข้อมูลชื่อบุคคล นิติบุคคล หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เช็กความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยต่างๆ ทั้งประกันเดินทาง ประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอัคคีภัย และประกันชีวิต ผ่านบริการ OIC Gateway บนแอปฯ ทางรัฐ
โดย DGA มีแผนประสานความร่วมมือเพื่อนำบริการจากหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ
โดยบริการยอดนิยม 10 อันดับ ได้แก่
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงแนวทางยกระดับแอปฯ "ทางรัฐ" ว่า การที่มีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันมากๆ มีผู้ดาวน์โหลด super app “ทางรัฐ” จำนวนมากขึ้น นั่นจะยิ่งทำให้หลาย ๆ หน่วยงานที่ยังไม่เชื่อมต่อข้อมูล และบริการกับ super app “ทางรัฐ” จะได้เล็งเห็นถึงความต้องการในการใช้งานของประชาชน
และเร่งเชื่อมโยงข้อมูล นำบริการของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกับ super app “ทางรัฐ” ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น รวมไปถึงแอปฯ ทางรัฐ ต้องการเสียงจากประชาชนผู้ใช้งานจริงในการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ หากประชาชนต้องการให้ super app “ทางรัฐ” มีบริการอะไรเพิ่มเติม ทาง DGA ก็จะเร่งประสานกับหน่วยงานนั้นๆ ให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล เข้ามาให้บริการกับประชาชนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ super app “ทางรัฐ” เปรียบเหมือนเป็น one stop service ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง