KEY
POINTS
ประเด็นแหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ดูเหมือนว่า แหล่งที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะยังเป็นข้อถกเถียงว่าเข้าข่ายหรือ จนล่าสุด นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า พร้อมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ถึงการใช้แหล่งที่มาของเงินดังกล่าว โดยอ.เจษฎ์ ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวมองว่าไม่เข้าข่ายตามมาตรา 28
และหากเดินหน้าต่อไปก็ความสุ่มเสี่ยงที่จะมีโทษอาญาด้วย
รูปแบบการแก้ปัญหาของรัฐบาลณขณะนี้เข้าตำรา เหมือนลิงแก้แห ขว้างงูไม่พ้นคอ นั่นก็เป็นเพราะว่า สิ่งที่ใช้ในการหาเสียงไม่ใช่เป็นการประกาศนโยบาย แต่เป็นลักษณะสัญญาว่าจะให้มาตั้งแต่แรก
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า ข้อเท็จจริงของมาตรา 28 พ.รบ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องใช้เมื่อมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลอาจร้องขอ หรือออกคำสั่งให้หน่วยงานดำเนินการ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นๆ
ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ารัฐบาลให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานที่ร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยใช้มาตรา 28 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แต่เมื่อพิจารณาขอบเขตการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. พบว่าต้องเป็นไปเพื่อการสนับสนุนส่งเสริมเกี่ยวกับด้านการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร
ดังนั้นปัญหาของการใช้มาตรา 28 เพื่อดำเนินโครงการเงินดิจิทัล มีทั้งในมุมของการใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือมีปัญหา และอีกมุมคือการใช้เงินเพื่อดำเนินโครงการที่ผิดวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.
ในมิติของภาวะเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ตอบข้ออภิปรายตามมาตรา 152 เอาไว้ว่าได้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไปแล้ว พร้อมยกตัวอย่างราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้น นั่นหมายความว่าความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 28 อีก
อันดับต่อมาคือ กฎหมายของ ธ.ก.ส. ซึ่งไม่มีข้อใดกำหนดวัตถุประสงค์ให้นำเงินไปแจกแก่ประชาชน เพื่อจับจ่ายใช้สอยทั่วไป แม้ประชาชนผู้นั้นจะเป็นเกษตรกรก็ตาม เพราะฉะนั้นการใช้มาตรา 28 จึงไม่น่าจะใช้ได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือหากคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ออนุมัติให้นำเงินออกมาใช้ตามโครงการดังกล่าว หากขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ ก็เข้าข่ายที่จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 172
มาตรา 172 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวถึงการใช้อำนาจหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นอันดับแรกคือ ธ.ก.ส.เอง เพราะในขณะนี้รัฐบาลยังคงค้างจ่ายชดเชยให้กับธ.ก.ส. อยู่หลายแสนล้านบาท
หากนำเงินออกมาใช้เพิ่มอีกก็จะเกิดการหมักหมมของหนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งประชาชนทุกคนเป็น ผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นร้องต่อป.ป.ช.ได้
แต่หากธ.ก.ส. เห็นว่าการดำเนินการตามข้อสั่งการ หรือข้อร้องขอของรัฐบาลมีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ก็สามารถไม่ปฏิบัติตามได้ โดยอาจทำหนังสือชี้แจงกลับ และรัฐบาลไม่สามารถเอาผิดเอาโทษกับ บอร์ด ธ.ก.ส. ได้ด้วย เนื่องจาก ธ.ก.ส. ทำงานตามพระราชบัญญัติซึ่งออกโดยสภา การที่รัฐบาลจะสั่งการ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน เนื่องจากต้องการให้การดำเนินงานของหน่วยงานไม่ถูกล้วงลูกจากรัฐบาลโดยตรง แต่ต้องผ่านมติบอร์ด
ซึ่งหากเงื่อนไขตามกฏหมายการให้พ้นไปของกรรมการ ธ.ก.ส. ไม่มีเรื่องการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ค.ร.ม.อยู่ด้วย ก็ยิ่งไม่สามารถทำอะไร กรรมการ ธ.ก.ส. ได้
ต่อข้อถามว่า หากรัฐบาลระบุไปในวัตถุประสงค์ให้เห็นว่า เกษตรกรที่ได้รับเงินดิจิทัลจากธ.ก.ส. สามารถนำเงินเหล่านั้นไปซื้อสินค้าเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม เช่นปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เช่นนี้จะถือว่า เป็นไปตามขอบวัตถุประสงค์ของมาตรา 28 หรือไม่ อ.เจษฎ์ ให้คำตอบว่าหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับเป็นการแบ่งประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัลออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มหนึ่งคือได้รับเงินจากงบประมาณ ปี 67 , 68 ส่วนอีกกลุ่มคือเกษตรกรที่ได้รับเงินจาก ธ.ก.ส. ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ กลุ่มเกษตรกรต้องใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. เท่านั้น แตกต่างจากอีกกลุ่มที่นำไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคตามเงื่อนไขโครงการได้ เกิดเป็นการแจกแบบ 2 มาตรฐาน มีความลักลั่นเกิดขึ้น
คำถามตามมาคือการควบคุมจะเป็นอย่างไร ต้องแยกเป็น 2 แอปพลิเคชั่นด้วยหรือไม่ และหากเกษตรกรใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของธ.ก.ส. จะรับผิดชอบอย่างไร โดยใคร
ส่วนที่กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะมีลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ ไม่ใช่นโยบายมาตั้งแต่แรกนั้น ก็เพราะว่าหากเป็นนโยบายจะต้องมีแผนงาน ที่นำสู่การปฏิบัติ หรือ policy to plan for implementation แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ณขณะนี้เพราะไม่มีแผนงานแต่อย่างใด จึงเกิดปัญหาแหล่งที่มาของเงินขัดกับกฎหมายอยู่ตลอดเวลา