ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2567 ระดับ 39.2 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 44.5 และเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ชื้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ อาจเป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย
อีกทั้งหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับเกินว่าร้อยละ 90 ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไม่มีความพร้อมทางการเงิน ส่งผลให้มีความกังวลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพราะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อสอดคล้องกับข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง -24% และมีมูลค่าลดลง -25.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จะเห็นว่าความเชื่อมั่นและความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงมากในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ยังได้ศึกษาถึงกลุ่มประชากรที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 53.1% และมีอายุอยู่ระหว่าง 25-34 ปี หรือเป็นคนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z อยู่ที่ 51.9% ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้เฉลี่ยนต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,001 – 30,000 บาท โดยวัตถุประสงค์ในการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 32.6% ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามมาด้วยความต้องการซื้อเพื่อลงทุนเก็งกำไรหรือให้เช่า 18.4% และอันดับสาม ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน 14.9% จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ที่ซื้อเพื่อลงทุนและเป็นทรัพย์สิน มีสัดส่วนรวมกันถึง 33.3% แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยให้ความสำคัญกับการลงทุน สะสมความมั่งคั่งและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต
และหากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่า ปัจจัยของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเลือกพิจารณาที่มีสัดส่วนมากขึ้น คือ ต้องการซื้อเพื่อลงทุนเก็งกำไรหรือให้เช่า และต้องการแยกครอบครัวหรือแต่งงาน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 18.4% และ 9.6% จาก 12.4% และ 7.5% ตามลำดับ และเมื่อสำรวจจังหวัดที่มีความสนใจจะซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด 10 อันดับแรก ณ ไตรมาส 1 ปี 2567
ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ชลบุรี สมุทรสาคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ โดยพบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูง 48.1% โดยเฉพาะทำเลตามแนวรถไฟฟ้าสายหลัก ใกล้แหล่งงานหรือแหล่งชุมชน เช่น ทำเลพระราม 9 บางนา บางแค ลาดพร้าว และห้วยขวาง ทั้งนี้ จังหวัดในอันดับที่ 2-10 มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 1.4% ถึง 10.6% ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีความต้องการซื้อรวมเพียง 6.6%