สหพันธ์ขนส่ง ขีดเส้นตาย ตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร ขู่ พรุ่งนี้ขึ้น 9 %

11 มิ.ย. 2567 | 10:30 น.

ภาคประชาชน ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ แก้ปัญหาน้ำมันดีเซล ขีดเส้นตาย 30 บาทต่อลิตร สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ขู่ พรุ่งนี้ ปรับราคาขนส่งเพิ่มขึ้น 9%

11 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลทำเนียบรัฐบาล กลุ่มภาคประชาชนที่ได้รับผล กระทบน้ำมันแพง (คปนพ.) นำโดย นายกฤษณ์ สุริยผล เลขา คปนพ. และ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โดยขอให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร พร้อมสรุปข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ปัญหา 5 ข้อดังนี้

  1. ตรึงน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี
  2. ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิต ที่ซ้ำช้อนเกี่ยวข้องกับน้ำมัน
  3. ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
  4. ให้ประกาศการขึ้นลงน้ำมันเป็นรายเดือน
  5. ยกเลิกเก็บค่าการตลาดและน้ำมันสูตรผสม

ขณะที่ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นี่คือหนังสือฉบับที่ 4 ที่ยื่นถึงนายกฯ และจะเป็นฉบับสุดท้าย เพราะ 3 ฉบับที่ผ่านมา ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ ทั้งสิ้น โดยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย กับการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากสมาชิกผู้ประกอบการขนส่ง ได้รับผลกระทบอย่างมาก

จากที่เคยมีรถวิ่งอยู่ในระบบกว่า 400,000 คัน ตอนนี้หายไป 50-60% หรือเหลือราว 200,000 คัน ไม่สามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงาน และค่าส่วยที่โดนขูดรีดได้ ในส่วนนี้มีรถถูกยึด เพราะไม่มีเงินส่งค่างวด 1,000 กว่าคัน และจ่อจะโดนยึดอีกจำนวนมาก และหลายร้อยราย อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง เพื่อขอประนอมหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้ดำเนินกิจการขนส่งต่อไปได้

 

ที่สำคัญคือ มีผู้ให้บริการรถโดยสารกว่า 100,000 คัน ที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด ได้ทำสัญญานำเที่ยวในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์ล่วงหน้า 6 ถึง 12 เดือน แต่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะต้นทุนพลังงานพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้แรงงานในภาคโลจิสติกส์และขนส่งกว่า 5,000,000 คน ต้องประสบปัญหาเลิกจ้าง จากภาคขนส่งหยุดชะงัก และบริษัทขนส่งปิดตัวลง

นายอภิชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและสมาชิก ได้พยายามคงราคาขนส่งเดิมไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค แต่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการขนส่งจำเป็นต้องปรับราคาขนส่งเพิ่มขึ้น 9% จากสูตรการปรับขึ้นราคาน้ำมันทุก 1 บาทต่อลิตร ค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้น 3%

ดังนั้นหากรัฐบาลปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปเป็น 35 บาทต่อลิตร ภาคขนส่งอาจต้องปรับขึ้นค่าบริการอีก 6% หรือรวมขึ้น 15% เมื่อนับจากฐานราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จึงเรียกร้องรัฐบาล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร ปรับปรุงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นธรรม ลดการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน หลังรัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิต จากก่อนหน้านี้ปรับลดลงมาเหลือ 1 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาท 99 สตางค์ และยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มอีกเกือบ 3 บาท

ทั้งที่ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงอยู่ที่ 20 - 21 บาทต่อลิตรเท่านั้น แต่เจอภาษีเกือบ 9 บาท ขณะที่ภาคขนส่ง รอหวังจากกระทรวงพลังงาน ที่รับปากจะปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ ทั้งจากสิงคโปร์ ซาอุดีอาระเบีย และดูไบ เพราะนำเข้ามาก็จริง แต่กลั่นในเมืองไทย ทำให้มีค่าประกันและค่าระวางซ่อนอยู่ ซึ่งสามารถถอดตัวเลขออกมาได้

หากยังคงเป็นแบบนี้ประชาชนจะอยู่ไม่ได้ เสนอให้แยกไบโอดีเซลออกจากส่วนผสมน้ำมันดีเซล โดยขอให้ถอดน้ำมันไบโอดีเซลออกก่อน ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง หากราคาน้ำมันถูกลง ก็สามารถนำกลับเข้ามาใช้ผสมใหม่ได้ ซึ่งไม่มีผลกับเครื่องยนต์ ปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซล 60 ล้านลิตร ต่อวัน โดยใช้ไบโอดีเซล 10% หากถอดออกจะลดได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือด้านสถาบันการเงิน ให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่างวดรถได้ ทั้งนี้ให้เวลารัฐบาล 10 วัน ในการพิจารณา หากไม่มีคำตอบใด จะยกระดับความเข้มข้นในการเรียกร้อง แต่ขออุบแนวทางไว้ก่อน

ด้าน รองเลขาธิการนายกฯรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับเรื่อง แจ้งว่า จะนำเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 18 มิ.ย. นี้