นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 75% ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบข้อสั่งการ และสั่งการมายังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งวันนี้คาดว่าเรื่องน่าจะถึงสำนักงานแล้ว การยกร่างของกรมที่ดิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมาไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร
สำหรับสาระสำคัญของทรัพย์อิงสิทธิ คือเพิ่มจาก 50:50 ปี เป็น 99 ปี เพราะกฎหมายเดิมให้ถือครอง 50 ปีและสามารถต่อการถือครองได้อีก 50 ปี ดังนั้นถือเป็นการทำให้ยั่งยืนสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาลงทุน
ส่วนการถือครองอาคารชุดโดยชาวต่างชาติ 49 % เพิ่มเป็น 75 % นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า บางสิทธิส่วนที่เกิน 49 % ต่างชาติอาจไม่ได้รับสิทธิบางอย่าง แต่สิทธิในการโหวต และอีกหลายอย่าง ยังเป็นของคนไทยอยู่ สิ่งที่จะได้ตามมาคือจะขายอาคารชุดได้มากขึ้น ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการก็จะสามารถที่จะมีกำลังซื้อไม่ได้มีเพียง supply แต่มี demand ด้วย
"ไม่ได้เป็นการเอื้อให้กับเอกชนบางราย หากจะพูดเช่นนี้ก็สามารถโยงได้ทุกเรื่อง ย้ำเรื่องของสิทธิการคุ้มครองปกป้องประโยชน์ของคนไทยจะไม่มีส่วนไหนเสียหายเลย มีแต่เรียกเงินเข้าประเทศ โดยหากศึกษากฎหมายนี้อย่างละเอียด ประเทศไทยมีแต่ได้ไม่มีอะไรที่จะเสีย"
นายอนุทิน กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ได้ยกมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งตนเองสั่งวันนี้และเสร็จเมื่อวาน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว พร้อมขออย่ามองว่า เอื้อประโยชน์นายทุน แต่ให้มองถึงคนไทย เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำ สมัยมีวิกฤตต้มยำกุ้งปรับอัตราส่วนภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้มีการปรับลดลง ซึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีหลายบริษัท และมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งเมื่อเข้ามาและมีข่าวดีก็ยิ่งมีโครงการเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความเจริญขยายออกไปมากขึ้น ที่ดินก็มีราคาสูงขึ้น ซึ่งคนไทยก็จะได้ประโยชน์ เมื่อมีโครงการเพิ่มมากขึ้น market cap ของบริษัทก็เพิ่มสูง ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศไทย
ดังนั้นขอให้คิดเป็นบวก ยอมรับว่ามีจุดด้านลบแต่จุดลบเมื่อเทียบกับการเป็นบวกห่างกันมาก ก็ต้องเฝ้าระวังจุดที่เป็นลบ เช่นบางมาตรการเกินร้อยละ 49 % ห้ามการโหวต จะถือครองสิทธิเท่าไหร่ก็ห้ามโหวต ก็โหวตไม่ได้ยังคงให้อยู่ที่ 49 % ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาใด ๆ คนไทยสามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในอาคารชุด
ส่วนจะนำเข้าที่ประชุมครม.พิจารณาได้เมื่อใด นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องลงนามเห็นชอบหลักการก่อน ต้องผ่านความเห็นส่วนราชการอื่นๆ รวมไปถึงความเห็นของประชาชน ซึ่งจะมีขั้นตอนไม่ใช่ว่าอยากจะทำเองแล้วทำได้ พูดได้อย่างเดียวว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใครอย่างแน่นอน อันนี้ยืนยันได้เลยเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนให้กับประเทศไทย