นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นจาก 49 % เป็น 75 % ว่าเป็นเรื่องที่เกิดในที่ประชุมครม. วันที่ 18 มิ.ย. 2567 สืบเนื่องจากมติครม. วันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ครม. ได้พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มายื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ประมาณ 9-10 ข้อ
โดยมีเรื่องมี 2 เรื่องที่ค้างอยู่ ให้ศึกษาความเป็นไปได้ว่าเหมาะสมหรือไม่หรือมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ จาก 50:50 เป็น 99 ปี และเรื่องของการถือครองคอนโดฯ ชาวต่างชาติจาก 49 % เป็น 75 % นั้นมีมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการเร่งรัดศึกษา หาข้อสรุปความเป็นไปได้ ยังไม่มีการดำเนินการจัดการเป็นเพียงการนำมติครม. มาดำเนินการและรายงานต่อครม.
ส่วนเกณฑ์ในการแบ่งสัดส่วนนั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า ไม่มีเกณฑ์ มีเพียงข้อเสนอมาจากการรับฟัง และข้อเสนอมาซึ่งข้อที่คิดว่าทำได้ ได้สั่งการแล้ว เหลือเพียง 2 ข้อนี้ ที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลา เพียงแต่ขอให้สรุปมาได้โดยเร็ว ยังไม่มีการตัดสินใจ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับที่ดินที่ต้องดู ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์ หรือปัญหา ส่วนความกังวลว่าเรื่องนี้จะถูกโยงไปเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่นั้นเห็นว่า ไม่กังวลเพราะได้สั่งการให้ศึกษาตามที่ประชาชนหรือกลุ่มผู้ประกอบการเสนอมา ซึ่งได้สั่งการไปศึกษาอยู่เพราะอาจมีปัญหาที่ติดขัด พร้อมย้ำว่าไม่ได้กังวลและไม่มีปัญหาอะไร โดยไม่ได้นำข้อเสนอเก่าของรัฐบาลชุดที่แล้วมาศึกษาดู เพราะตอนนี้มีผู้ประกอบการเสนอมาเราก็รับมาดู และศึกษา แต่หากศึกษาแล้วไม่ได้ก็จะแจ้งกลับไปเป็นมาตรการ ขณะนี้ได้ทำไปแล้ว 7-8 มาตรการ ที่ศึกษาดู มีเรื่องให้ทำเยอะ ศึกษาก็ถือว่าให้ทำแล้ว
ส่วนจะถูกมองว่าเรื่องนี้เป็นการเอื้อเอกชนที่ขายคอนโดฯ เยอะ ๆ หรือไม่นั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า หากเอื้อก็ตัดสินใจไปแล้วให้ทำได้ แต่ขณะนี้กำลังศึกษาว่าทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจะบอกว่าเอื้อหรือไม่เอื้อ ไม่ได้ เพราะยังไม่ตัดสินใจอะไรเลย ขณะนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต่างชาติเสนอเข้ามา ซึ่งรัฐบาลก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม รัฐบาลมีหน้าที่รับเรื่องมาพิจารณาดูว่าจะทำหรือไม่ หากคิดว่าเป็นประโยชน์ก็จะทำเลย หรือหากมีเรื่องที่คลางแคลงใจ ก็จะศึกษา แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะไม่ทำ ย้ำว่าต้องใช้ดุลยพินิจบนพื้นฐานข้อเท็จจริง