เงินดิจิทัล 10,000: 8 ประเด็นสำคัญก่อนสภาลงมติงบกลางปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน

30 ก.ค. 2567 | 07:17 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2567 | 10:37 น.

เปิด 8 ประเด็นร้อนก่อนสภาโหวตงบกลางปี 67 แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 1.22 แสนล้าน ทั้งความเป็นส่วนตัว การแข่งขัน และโอกาสลงทุน อ่านเลยก่อนมีผล

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 มีวาระสำคัญคือการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 พ.ศ. .... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นำเสนอข้อสังเกตสำคัญ 8 ประเด็นต่อสภาผู้แทนราษฎร ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ดังนี้

ประเด็นแรก มีข้อสังเกต ในเรื่องการเก็บข้อมูลระบบ Payment Platform ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และโครงการ อื่นใดในอนาคต ควรมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาคำนวณ Fiscal Multiplier MPC (Marginal Propensity to Consume) และอัตราการหมุนของเงิน (Velocity of Money) และควรระบุเงื่อนไข การเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ใน TOR ด้วย

ประเด็นที่สอง การกำหนดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายประจำ การกำหนดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายประจำ เห็นควรให้สำนักงบประมาณ พิจารณาการกำหนดนิยาม “รายจ่ายลงทุน” ให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สาม การกำหนด Negative List เพื่อให้การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ สูงสุด การกำหนดรายการสินค้าที่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินตามโครงการเติมเงิน 10,000  บาท ผ่าน Digital Wallet (Negative List) ควรขยายให้ครอบคลุมผู้ประกอบการไทยมากที่สุด และควรนำ ข้อมูลโครงสร้างการผลิต สัดส่วนปัจจัยการผลิตในประเทศและต่างประเทศมาพิจารณา

ประเด็นที่ 4 การศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านการแข่งขันทางการค้าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายที่ส่งผลต่อการแข่งขันตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จึงควรให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขัน ทางการค้า เข้ามามีส่วนร่วม ให้คำปรึกษา และประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ที่จะใช้งบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมฯ โดยเฉพาะในด้านที่จะกระทบต่อการแข่งขันในตลาดค้าปลีกค้าส่ง ทั้งภาพรวมของ ตลาดระดับประเทศและระดับพื้นที่ เนื่องจากตลาดค้าปลีกค้าส่งในปัจจุบันมีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง

ประเด็นที่ห้า มาตรการในการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการควรมีการประชาสัมพันธ์การกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ เพื่อเป็น การป้องกันการกระทำความผิด และควรมีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม กรณีที่มีการพบเห็นการกระทำความผิดในการใช้เงินตามโครงการดังกล่าว โดยมีช่องทางที่ประชาชน สามารถติดต่อได้โดยสะดวก

ประเด็นที่หก การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลรัฐควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเปิดเผยมาตรการดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และควรให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ประเด็นที่เจ็ด การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการส่งข้อมูลการซื้อขายควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า ข้อมูลการซื้อขายระหว่างประชาชน กับร้านค้า หรือร้านค้ากับร้านค้าที่เกิดขึ้นในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะไม่ได้ถูกส่งตรงไปยังกรมสรรพากร แต่หากมีกฎหมายอื่นที่กำหนดให้มีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรม ทางการเงินแก่สรรพากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันการเงินก็จะต้องดำเนินการส่งข้อมูล ตามกฎหมายนั้น

ประเด็นที่แปด คือ การส่งเสริมให้ประชาชนนำเงินไปประกอบกิจการรัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน และให้คำปรึกษา เรื่องการประกอบกิจการ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนที่ประสงค์จะนำเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไปรวมตัวกันเพื่อประกอบกิจการสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก

ที่มา : สภาผู้แทนราษฎร