บรรยากาศในการ “ประชุมวุฒิสภา” ในวันนี้ (6ส.ค.67) ในระหว่างเปิดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายงบฯ 67 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ดำเนิน “โครงการเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”
ปรากฏว่ามีดราม่าน้ำตาแตก ในวุฒิสภา 2 ราย ที่ในเป็นอดีตแม่ค้ามาก่อน สนับสนุนให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดจะดีกว่า นำไปใช้ง่ายกว่า
แถมยังตัดพ้อที่อาชีพพ่อค้า แม่ค้า แทบจะไม่เคยได้รับการดูแลจากรัฐบาล เหมือนเกษตรกร หรือชาวนา ต้องอดทนอดกลั้นทำอาชีพดูแลครอบครัว รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตเหตุใด จึงไม่แจกเงินอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า
ซึ่งการอภิปรายของ 2 สว.อดีแม่ค้า ทำให้ “ประธานวุฒิสภา” ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ซาบซึ้งการอภิปรายจนน้ำตาซึมเช่นกัน
นางเบ็ญจมาศ อภัยทอง สมาชิกวุฒิสภา อดีตแม่ค้า อภิปรายทั้งน้ำตาว่า เพื่อน ๆ แม่ค้าฝากความหวัง และกำลังใจในการมาเป็น สว.ให้แม่ค้าขายของดีขึ้น แต่การเป็น สว.ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะมาบอกความในใจแม่ค้าทุกคน ที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลจากรัฐบาล
ชาวนาได้ไร่ละ 1,000 หรือไร่ละ 10,000 บาท แต่แม่ค้าต้องช่วยตัวเอง ขายของกลางคนน ใช้ความอดทนทำมาหากิน ทำอาชีพเพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งเห็นชอบ อยากได้เงิน 10,000 บาท แต่อยากได้เป็นเงินสด
ซึ่งตอนแรกรัฐบาลก็บอกว่า ทุกคนต้องได้ 10,000 บาท แต่ก็มีเงื่อนไขมากมาย ซึ่งบางคนก็ทำมาหากิน มีเงินเก็บ 500,000 บาทก็ขาดคุณสมบัติแล้ว แล้วเขาผิดอะไรที่มีเงินเก็บ และทำไมทุกคนไม่ได้เงิน คนที่ขยันทำมาหากิน แต่ถูกตัดสิทธิ ทำไมถึงไม่ทำให้เสมอภาคเท่ากัน ทำไมต้องคัดเกรด
นางแดง กองมา สมาชิกวุฒิสภา อีก 1 สว.อดีตแม่ค้า อภิปรายว่า การที่รัฐบาลจะแจกเงินประชาชนคนไทย 10,000 บาท ตนเองมีความยินดีและดีใจมาก แต่มีความกังวลว่าจะนำไปใช้จ่ายอย่างไรหลังได้รับเงินส่วนนี้ เนื่องจากเป็นเงินดิจิทัล
“จึงรู้สึกคิดหนักที่บางครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คน หากรวมเป็นเงิน 40,000-50,000 บาท อยากเอาไป ซ่อมแซมบ้าน ซื้อควายซื้อวัวเลี้ยง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ทำไมรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสด จะได้ใช้ง่าย ๆ”
ทั้งนี้การอภิปรายของนางแดงนั้น ทำให้นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ถึงกับน้ำตาซึม พร้อมได้นำโทรศัพท์ มาบันทึกภาพ ก่อนที่จะหยิบกระดาษมาซับน้ำตาอยู่นานแล้ว จนนางแดงอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังคงเช็ดอยู่
นอกจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ยังกังวลว่า โครงการดังกล่าวของรัฐบาล จะเป็นการเอื้อนายทุน ทำประชาชนเสียนิสัยจากการแจกเงิน และยังเป็นการหาเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล สร้างภาระจนจะทำประเทศเสียหาย
พลตำรวจโทบุญจันทร์ นวลสาย สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า โครงการนี้เป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประชาชนหรือไม่ และจากการลงพื้นที่ ประชาชนก็ยังสงสัยต่อการใช้เงินดิจิทัล และจะไปใช้จ่ายต่ออย่างไร ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสด จึงตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง หรือเป็นเพียงการหาเสียงล่วงหน้า
พร้อมยังเห็นว่า การเปิดลงทะเบียนประชาชนนั้น อาจจำให้ประชาชนดีใจเล่น ๆ และยังระบุอีกว่า การลงทะเบียนนั้น ชาวบ้านต้องไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ 4,000 บาท จนเงินหายไปแล้ว 4,000 บาทจาก 10,000 บาท พร้อมยังแสดงความกังวลว่า การแจกเงินหมื่นจากรัฐบาล จะทำให้ประชาชนเสียนิสัย
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการเศรษฐกิจการเมือง ที่ยิงทะลุมิติ หวังผลเลือกตั้งคราวหน้า เพราะหากนโยบายนี้ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งคราวหน้า พรรคเพื่อไทยไปไม่รอดแน่นอน ฉะนั้น จึงไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะทำให้เจ๊งทั้งประเทศ
พร้อมยังอภิปรายว่า ในอดีตมีนโยบายแจกเงินของรัฐบาลหลายโครงการ แต่ความยากจนก็ยังคงเป็นมิตรแท้ของประชาชนเช่นเดิม จนมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประชาชนแห่มาลงทะเบียน เพราะกลัวเสียสิทธิ และยังคงมีความซับซ้อน ไม่แจกเป็นเงินสด พร้อมเชื่อว่า เม็ดเงินต่าง ๆ ก็จะยังคงไหลกลับไปที่นายทุนใหญ่ และจะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ
แม้ GDP ของประเทศจะโตขึ้น ความยากจนของประชาชนก็คงไม่ได้ลดลง หรือแม้จะมีการทักท้วงจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาเตือนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่ฟัง และยังคงเดินหน้าต่อ แต่วุฒิสภา จะต้องยับยั้งรัฐบาล
พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ ที่การเลื่อนลงทะเบียนของร้านค้าน เป็นเพราะไม่มีร้านค้าใดเข้าร่วมใช่หรือไม่
“ผมจึงไม่ให้ความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้ และรัฐบาลควรจะหันไปสนับสนุนการออมให้กับประชาชน หรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลที่แล้วที่ดี เช่น กฎหมายการส่งเสริมการออม ก็ควรจะสนับสนุนต่อ”
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ฉบับนี้นั้น นายนิรุตติ สุทธินนท์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอต่อที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในข้อที่ 138 โดยไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติม แต่นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นด้วยหากจะงดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เนื่องจาก งบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเป็นเงินกู้ทั้งหมด จึงขอให้ที่ประชุมฯ ได้ทบทวน
ด้าน นายกมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนข้อเสนอของนายนิรุตติ เพราะเห็นว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องใช้เวลา แต่เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่รัฐบาลเสนอ ดังนั้น การงดใช้ข้อบังคับการประชุมดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถใช้กรรมาธิการเต็มสภาได้ และสามารถเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาได้
แต่ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้ต้องมีการลงมติ ซึ่งที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 161 เสียง ต่อ 17 เสียง เห็นชอบตามข้อเสนอของนายนิรุตติ ที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติม