เงินดิจิทัลวอลเล็ต-นโยบายการคลัง ครม.อุ๊งอิ๊ง ที่นักเศรษฐศาสตร์อยากเห็น

22 ส.ค. 2567 | 00:30 น.

เงินดิจิทัลวอลเล็ต-นโยบายการคลัง ครม.อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ถือเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลมักจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งมักจะรวมถึงนโยบายการคลังและการเงิน อย่างไรก็ตาม การออกแบบนโยบายเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง และความท้าทายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 

นายบุรินทร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองว่า รัฐบาลคงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทางใดทางหนึ่ง เเละถึงเเม้จะเป็น digital wallet หรือแนวทางอื่นคงไม่ได้คงไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจมากนัก

"สมมติรัฐบาลอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ อาจจะมีการลดขนาดไซส์หรือวิธีการก็ไม่ได้สําคัญเท่าความเร็ว เพราะฉะนั้นผมว่านักลงทุนจับตามองว่าเม็ดเงินปล่อยเข้ามาได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ เพราะจริงๆ หลายคนก็คงมองว่า เงินดิจิทัลอาจจะช่วยเฉพาะบางกลุ่มดีไหม เช่น กลุ่มเปราะบาง แล้วก็เอางบประมาณไปไปลงอย่างอื่น เช่น เราเห็นว่าการลงทุนภาครัฐเเละเอกชนอ่อนแอ การซื้อสินค้าคงทนอ่อนแอก็มีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่น" 

ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ มีความท้าทายที่ควรพิจารณา

การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมักประสบปัญหาขาดข้อมูลที่จําเป็น เช่น รายได้และการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งทําให้ยากที่จะออกนโยบายได้ตรงจุด และวัดผลได้อย่างแม่นยํา 

"ทุกครั้งที่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้อมูลไม่พร้อม มีไม่เพียงพอ ไม่รู้ว่าต้องให้ใคร ถ้าเกิดมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็อยากให้ภาครัฐเก็บข้อมูลมากขึ้น อีกอย่างที่อยากเห็น คือ การที่ให้คนมาอยู่ในฐานภาษีมากขึ้นเพื่อจะได้เก็บข้อมูล เราเห็นว่าคนที่อยู่ในฐานข้อมูลมา 11 ล้านคน มีการชําระภาษีเงินได้จริงอาจจะเหลือแค่ 4 ล้านคน เป็นเศรษฐกิจเเบบอินฟอร์มอลคือเศรษฐกิจที่ไม่มีใครรู้ว่าตกลงได้เงินเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่"

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีอาจมีประชาชนจำนวนมากที่อยู่นอกระบบภาษี ซึ่งอาจทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายไม่ได้อยู่ในระบบดังกล่าว 

"หลายคนไม่ว่าเป็นคนที่อยู่ในระบบภาษีที่จ่ายภาษีเยอะ รู้สึกว่าพอกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่เคยได้อะไรเลย แต่คนที่ไม่ได้เสียภาษี กลับได้ประโยชน์จากตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ได้เป็นการจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี คือ คนที่อยู่ในระบบก็ต้องได้ประโยชน์อะไรบ้าง เช่น ระบบการจ่ายเงินบํานาญหลังเกษียณ หรือการช่วยเหลือหลังเกษียณ คนจ่ายกับคนไม่จ่ายได้เท่ากัน

 

การให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม

ในประเทศอื่น ๆ มีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้เสียภาษี เช่น ระบบประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือการเกษียณอายุ ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น แต่ในไทยยังขาดมาตรการเหล่านี้

"ต่างประเทศจะให้สิทธิประโยชน์คนที่จ่ายภาษีเยอะ เช่นเรื่อง health care ซึ่งก็จูงใจทําให้คนยอมจ่ายภาษี เหมือนเวลาจ่ายบัตรเครดิตยิ่งจ่ายเยอะก็ยิ่งได้ Benefit เยอะ ผมว่าถ้ารัฐบาลคิดแบบนั้นจะสามารถดึงให้คนมาได้มากขึ้น

อีกประเด็นคือ อัตราภาษีในไทย โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ

"หลายคนบอกว่าภาษีค่อนข้างสูง ทําให้ดึงดึงศักยภาพของคนที่อยากจะมาอยู่ในประเทศหรือคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ได้อยากทํางานเป็น Professional เพราะว่าพอขึ้นไปตําแหน่งสูง ระดับภาษีก็หนักขึ้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศ อย่าง ดูไบ เเต่ถ้าภาษีเท่าเทียม เราอาจจะสามารถดึงคนเก่งเข้ามาในประเทศได้ ผมว่าจะทําให้ฐานภาษีขยายขึ้นนะ การลดภาษีลงมาถ้าเทียบกับนโยบายที่รัฐบาลลงไป 500,000 ล้านใน digital wallet ผมว่ามันน้อยมาก แต่เราสามารถเอาประโยชน์เข้ามาในระยะยาวดึงคนเก่งเข้ามาได้"