การผลักดันให้มีการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยภายใต้โครงการ "เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์" ที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการเศรษฐกิจและสังคมไทย
แนวคิดนี้ไม่ได้เพียงแค่ต้องการเปิดประตูให้ประเทศไทยเข้าสู่ตลาดการพนันระดับโลก แต่ยังมุ่งเน้นที่จะดึงดูดการลงทุนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
“การลงทุนแต่ละแห่ง ในกรุงเทพที่ต้องแสนล้าน ต้องลงทุนแสนล้านลงทุนน้อยๆไม่เอา มันไม่หล่อมันจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เราจะถือโอกาสเติมในสิ่งที่เราขาด อย่างวันนี้ เราจะมีคอนเสิร์ตดีๆ เราไม่มีคอนเสิร์ตฮอลใหญ่พอ เราจะถือโอกาสเติมในสิ่งที่ขาด โดยที่เราไม่ต้องลงทุน” ทักษิณระบุ
การจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายในกรอบของเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ไม่ใช่เพียงแค่โครงการเล็ก ๆ แต่เป็นโครงการที่ต้องการการลงทุนระดับแสนล้านบาท ด้วยการสร้างศูนย์รวมความบันเทิงที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่สวนสนุก สนามกีฬา โรงแรม ศูนย์การประชุม ไปจนถึงกาสิโน ซึ่งจะใช้พื้นที่เพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่รายได้หลักถึง 70-80% จะมาจากการดำเนินงานของกาสิโน
หากพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์” ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนระหว่างวันที่ 2-18 สิงหาคม 2567 พบว่าโมเดลการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ในประเทศไทย จะมีองค์ประกอบของธุรกิจหลากหลายประเภทรวมกัน โดยจะต้องมีธุรกิจสถานบันเทิงอย่างน้อย 4 ประเภทร่วมกับกาสิโน
ตามบัญชีแนบท้ายของกฎหมายได้กำหนดว่าธุรกิจสถานบันเทิงประกอบด้วย 1. ห้างสรรพสินค้า 2. โรงแรม 3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ 4. สนามกีฬา 5. ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7. สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8. สวนสนุก 9. พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP 10. กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ขณะที่คุณสมบัติผู้ประกอบการ กำหนดว่าต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาและค่าธรรมเนียมอายุ 30 ปี สามารถต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี โดยค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตครั้งละ 100,000 บาท ค่าใบอนุญาตครั้งแรก 5,000 ล้านบาท และรายปีปีละ 1,000 ล้านบาท
รัฐบาลไทยคาดหวังว่าการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม Fun Economy ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว กีฬา และความบันเทิงต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนในโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์นี้ยังสามารถสร้างงานให้กับคนไทยในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การก่อสร้าง การบริการ ไปจนถึงการจัดการบริหารในธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่รัฐสามารถเก็บภาษีจากกาสิโนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
ที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการกาสิโนระดับโลก เช่น กลุ่ม Las Vegas Sands Corporation กลุ่ม Wynn Resorts กลุ่ม Caesars Entertainment กลุ่ม MGM China Holdings Limited และกลุ่ม Hard Rock Cafe ต่างก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้
เอกชนทั้ง 5 รายไม่ก็ติดขัด โดยมองว่าการประกอบธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ใช้พื้นที่สำหรับกาสิโนเพียง 10-20% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น แต่รายได้จากกาสิโนจะอยู่ที่ 80% ของรายได้รวม
แต่ยังไม่เห็นด้วยกับพื้นที่ที่รัฐบาลจะกำหนดให้จัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ประกาศกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเบื้องต้นจากการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องระบุว่าจะมีการกำหนดไว้ 5 จุด ตามภาคต่างๆ ซึ่งนักลงทุนเห็นว่าควรให้นักลงทุนเป็นผู้จัดหาพื้นที่เอง เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของทุนไทยที่ให้ความสนใจลงทุนเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจพบว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 3 กลุ่ม เพื่อต่อยอดธุรกิจ ประกอบด้วย 1. กลุ่มUTAหรือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA 3. กลุ่มซีพี และ 3. กลุ่มเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ซึ่งแต่ละกลุ่มอยู่ระหว่างการดึงพันธมัติต่างชาติที่มีประสบการณ์ด้านกาสิโนเข้ามาร่วมลงทุน
ขณะที่กลุ่มเช็นทรัล และกลุ่มสยามพิวรรธน์ ปฏิเสธที่จะกระโดดเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการนี้อย่างชัดเจน
สำหรับกลุ่ม UTA ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ดำเนินงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และงานด้านวิศวกรรมชั้นนำของประเทศไทย ตั้งเป้าลงทุนโครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ เพื่อต่อยอดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ขณะที่กลุ่มซีพี ตั้งเป้าลงทุนเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ เพื่อต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้สิทธิพัฒนาทั้งพื้นที่มักกะสันและศรีราชา โดยกลุ่มซีพีตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนสถานบันเทิงครบวงจรที่พื้นที่มักกะสัน
ส่วนกลุ่ม “เดอะ มอลล์ กรุ๊ป”ตั้งเป้าลงทุนสถานบันเทิงครบวงจร ที่โครงการมิกซ์ยูสบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ บริเวณสี่แยกบางนา ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2561 และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2568 ซึ่งที่นี่ตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมศูนย์การค้า ฮอลล์แสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิง (แบงค็อก อารีน่า) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่พร้อมจะพัฒนาที่บริเวณ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต อีก 1 ที่ ซึ่งเดิมมีแผนพัฒนาเป็นโครงการ “บลู เพิร์ล” มิกซ์ยูสขนาดใหญ่มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท