"นายกฯแพทองธาร" แถลงนโยบายรัฐบาล พลิก 9 วิกฤตเป็นโอกาสทองของไทย

12 ก.ย. 2567 | 01:19 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 02:44 น.

"นายกฯแพทองธาร ชินวัตร" แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาฯ มุ่งแก้ 9 ปัญหาท้าทายเร่งด่วน สร้างความหวังและโอกาสใหม่ให้คนไทยทุกกลุ่ม พร้อมเผชิญความท้าทายระดับโลก

วันที่ 12 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการว่า ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2567 และแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2567 นั้น

บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) เรียบร้อยแล้ว

คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง

ทั้งหมดนี้คือ "ความท้าทาย" ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น "ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม" ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness)

รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิ (Empowerment) เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหา ที่รุมเร้าและทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ประเทศไทยมีพื้นฐานศักยภาพที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้ายังต้องเผชิญ ความท้าทายอีกหลายประการ ได้แก่

ประการแรก

ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ ระหว่างคนจนและคนรวย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน

ประการที่สอง

สังคมและเศรษฐกิจเราถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่า ระดับการพัฒนาประเทศและเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยในปี 2566 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) นั่นคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 10 ปีจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) ในขณะที่มีอัตราการเกิดลดลง คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยทุกช่วงวัย กำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสมรุนแรงขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก กล่าวโดยสรุปคือ คุณภาพของคนไทยในวัยทำงานลดลงมาก ในขณะที่การเข้าสู่ สังคมสูงวัยและภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สาม

ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาด ของยาเสพติดที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความ กว่า 5 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ประการที่สี่

ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรองรับแรงงาน กว่าร้อยละ 32-35 ของแรงงานทั้งหมด และมีมูลค่าประมาณร้อยละ 35 ของ GDP กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถ ในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ประการที่ห้า

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึง การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทานและแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ของโลก ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดตัวลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการใช้ กำลังการผลิตที่ลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 60

ประการที่หก

จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ ในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน ในปี 2566

ประการที่เจ็ด

ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึง การถอดถอนรัฐบาล ออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประการที่แปด

ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการ ของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้าง ของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงาน ส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมิน และตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพ ไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย

ประการสุดท้าย

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism) การใช้กฎระเบียบโลกสร้างอุปสรรคทางอ้อม ในการแข่งขัน ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ในการดำเนิน นโยบายภาครัฐและปรับท่าทีของประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ

รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพลิกความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ให้กับประชาชนทุกคน และต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต

 

ที่มา : คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗