KEY
POINTS
ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา 4 ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (ไม่รวมสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว) ส่งสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
ล่าสุดตัวเลขหลายตัวชี้ชัดว่า ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรง จนอาจต้องสูญเสียสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้กับทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามภายในปี 2571
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ IMF พบว่า แม้ในปี 2567 ไทยจะยังรักษาตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียนไว้ได้ด้วย GDP 5.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากอินโดนีเซียที่มี GDP 1.40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่อัตราการเติบโตของไทยกลับอยู่ที่เพียง 2.80% ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดา 5 ประเทศหลักของอาเซียน ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงถึง 5.75% และ 6.06% ตามลำดับ
ข้อมูลจาก IMF แสดงให้เห็นว่า ในปี 2568 แม้อันดับขนาดเศรษฐกิจจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ช่องว่างระหว่างไทยกับประเทศคู่แข่งเริ่มแคบลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอินโดนีเซียยังคงนำโด่งด้วย GDP 1.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 5.07% ตามด้วยไทยที่มี GDP 5.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เติบโตเพียง 3.00%
ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามมี GDP ใกล้เคียงกันที่ 5.08 และ 5.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมอัตราการเติบโตที่สูงถึง 6.11% และ 6.06% ตามลำดับ
สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงในปี 2569 เมื่อไทยมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 2.57% ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่สูงที่ 6.25% และ 6.01% ตามลำดับ ส่งผลให้ช่องว่างของ GDP ระหว่างประเทศแคบลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2570 เมื่อไทยเริ่มส่อเค้าถูกไล่ทัน แม้จะยังรักษาอันดับ 2 ไว้ได้ด้วย GDP 5.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ฟิลิปปินส์ตามมาห่างเพียง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วย GDP 5.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 6.33% ขณะที่เวียดนามมี GDP 5.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโต 5.85%
จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจะเกิดขึ้นในปี 2571 เมื่อไทยถูกทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามแซงขึ้นไป โดยการจัดอันดับขนาดเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยอินโดนีเซียยังคงนำโด่งด้วย GDP 1.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโต 5.06%
ตามด้วยฟิลิปปินส์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ด้วย GDP 6.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเติบโต 6.34% เวียดนามขยับขึ้นมาอันดับ 3 ด้วย GDP 6.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโต 5.75% ส่วนไทยร่วงลงไปอยู่อันดับ 4 ด้วย GDP 6.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเพียง 2.69%
ส่วนในปี 2572 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการคาดการณ์ ช่องว่างระหว่างประเทศจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น โดยฟิลิปปินส์จะมี GDP 7.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 6.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทย 6.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในตัวชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจ พบว่าการร่วงลงของไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างหลายประการ ดังนี้
1. การลงทุนต่ำสุดในภูมิภาค ข้อมูลจาก IMF ชี้ว่า อัตราการลงทุนต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่ม 5 ประเทศ โดยในปี 2567 อยู่ที่เพียง 21.98% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 20.71% ในปี 2572 ในขณะที่เวียดนามมีอัตราการลงทุนสูงถึง 32-33% อินโดนีเซียประมาณ 30% และฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 29%
2. การออมไม่เพียงพอ แม้อัตราการออมต่อ GDP ของไทยจะอยู่ในระดับปานกลางที่ 23-24% แต่ก็ต่ำกว่าเวียดนามที่มีอัตราการออมสูงถึง 33-35% และยังต่ำกว่าอินโดนีเซียที่ 29% ขณะที่ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มการออมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 20% เป็น 27% ซึ่งการออมในระดับต่ำส่งผลต่อเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังสะท้อนถึงกำลังซื้อและความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งของประชาชนที่อาจไม่เพียงพอ
3. การส่งออกชะลอตัว ด้านการส่งออก พบว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการของไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 3-4% ต่อปี ขณะที่ประเทศคู่แข่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่ามาก โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีช่วงการเติบโตสูงถึง 6-10%
ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของสินค้าและบริการไทยในตลาดโลก รวมถึงการพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และการขาดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
4. ภาระหนี้สาธารณะสูง หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับสูงประมาณ 65-66% รองจากมาเลเซียที่มีระดับหนี้สาธารณะประมาณ 68-69% ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียมีหนี้สาธารณะเพียง 30-40%
ระดับหนี้สาธารณะที่สูงนี้สะท้อนถึงข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาประเทศในระยะยาว
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในด้านรายได้ต่อหัวของประชากร แม้ไทยจะยังมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากมาเลเซีย โดยในปี 2567 อยู่ที่ 7,527 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9,271 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2572 แต่อัตราการเติบโตกลับช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานของ IMF สะท้อนให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจ การที่จะร่วงจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 4 ของอาเซียนภายในปี 2571 ไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลข แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน
การเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจในทุกมิติ ทั้งการลงทุน การออม การส่งออก และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ จึงเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว
หากไทยไม่เร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เราอาจไม่เพียงสูญเสียสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงที่จะถูกทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจรวบรวมจากIMF:World Economic Outlook Database