thansettakij
ตลาดแรงงาน Q2/2568 สมดุลเปลี่ยน จับตา 5 ปัจจัยเขย่าจ้างงาน

ตลาดแรงงาน Q2/2568 สมดุลเปลี่ยน จับตา 5 ปัจจัยเขย่าจ้างงาน

20 ก.พ. 2568 | 23:03 น.

เบื้องลึกความท้าทายตลาดแรงงานไทย ไตรมาสที่ 2/2568 สมดุลแรงงานอาจเปลี่ยน ผจญความไม่แน่นอนจากสภาวะเศรษฐกิจ จับตา 5 ปัจจัยใหญ่ เขย่าการจ้างงาน

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความวิชาการ เรื่องปัจจัยแวดล้อมขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ภายใต้เศรษฐกิจซึมต่อเนื่องเป็นทศวรรษ โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า ความท้าทายของตลาดแรงงานในช่วงต้นไตรมาส 2 ปี 2568 ความสมดุลอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากอุปทานแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาประมาณ 4.2 - 4.5 แสนคน 

สมทบด้วยแรงงานที่ว่างงานสะสมและทำงานไม่เต็มเวลาอีกประมาณ 3.46 แสนคน ขณะที่ตลาดแรงงาน (ระบบประกันสังคม ม.33) ในปีที่ผ่านมารับแรงงานสุทธิได้เพียง 254,257 คน ตัวช่วยพยุงตลาดแรงงานในปีนี้คาดว่าการลงทุนเอกชนอาจขยายตัวได้ 3.2% จากปีก่อนหน้าหดตัว 1.6% 

อีกทั้งคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปี 2567 จำนวน 3,137 โครงการขยายตัว 40% มูลค่า 1.13 ล้านล้านบาท บางส่วนลงทุนจริงในปีนี้ ปัจจัยเสริมจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้านิติบุคลที่จัดตั้งใหม่ในปีที่แล้ว จำนวน 87,590 ราย ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดย่อมอาจซึมซับแรงงานใหม่ได้บ้าง 

อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานไทยในปีนี้ และต่อ ๆ ไปเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจไทยที่อิงกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดแรงงานและมีผลต่ออัตราว่างงานของไทยซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ดร.ธนิต มองว่า ปัจจัยแวดล้อมขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ปี 2568 มีด้วยกัน 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 

1. ภาคเอกชนปรับสภาพธุรกิจสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำมาก่อนหน้านี้ เช่น การทยอยเลิกกิจการ การลดขนาดธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีและการลดกำลังคน ที่ต้องติดตามคือแรงงานในอุตสาหกรรมในชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาป

2. ภาคส่งออกและท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีมีผลต่ออุปสงค์ความต้องการแรงงาน การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 5.14% (สศช.ระบุ 5.8%) ความท้าทายคืออัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าและมาตรการทางภาษีหรือ “Tariff Wall” ของประธานาธิบดีทรัมป์จะออกฤทธิ์เดชมากน้อยเพียงใด 

ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจใกล้ 39.5 – 40  ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว (รวม) 3.3 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มจากปีก่อนหน้านั้น 12.5% ความท้าทายคือสภาวะเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวและเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ต่ำ

3. การบริโภคของประชาชน ความท้าทายคือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะขยายตัวได้เพียง 3.3% ต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 4.4% และปี 2566 ขยายตัวได้ 6.9% การบริโภคของประชาชนสะสมพิษจากเศรษฐกิจซึมยาวต่อเนื่องผลคือทำให้หนี้ครัวเรือนสูง การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการ “คุณสู้-เราช่วย” ณ 16 ก.พ. 68 มีผู้เข้าร่วม 8.2 แสนราย จำนวน 9.9 แสนบัญชีมูลหนี้มากกว่า 2.66 ล้านล้านบาท 

สะท้อนให้เห็นถึงหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงมีผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลมีโครงการอัดฉีดเงินดิจิทัลเฟส 3 งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ภายในช่วงกลางปี ซึ่งทาง “สศช.” เสนอให้เปลี่ยนเป็นโครงการจัดการน้ำทั่วประเทศจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า

4. ปัญหาสภาพคล่องธุรกิจ เกี่ยวข้องกับทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งภาคการผลิตและบริการโดยเฉพาะ SMEs และรายย่อยที่อุ้มแรงงานจำนวนมาก แนวโน้ม NPL หรือหนี้เสียในภาคธุรกิจกำลังขยายตัวและขยายตัวไปในธุรกิจรายใหญ่ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของปีที่ผ่านมาหดตัว 0.4% เป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และรายย่อยหดตัวถึง 1.9% 

5. อุปทานแรงงานลดลง เป็นผลจากสถานประกอบการเอกชนและการลงทุนใหม่เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เช่น เอไอ โรบอท ระบบออโตเมชั่นและโปรแกรม-ซอฟท์แวร์ มีการเร่งตัวนำมาใช้ทั้งในภาคบริการ-การผลิต-ก่อสร้าง-เกษตรและเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีเหล่านี้มีผลทำให้การใช้แรงงานลดลง 

อีกทั้งกับค่านิยมของแรงงานรุ่นใหม่ไม่นิยมหางานในช่วง 2 – 3 ปีแรก ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันประกอบอาชีพอิสระเป็นการลดอุปทานการหางานและว่างงาน กอปรทั้งไทยเข้าสู่สังสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยหนึ่งในห้าของประชากรเป็นผู้สูงวัย