PSTC ขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ตั้งเป้า 3 ปี รายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท

12 ก.ค. 2559 | 07:32 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2559 | 15:31 น.
นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี หรือ PSTC ผู้ออกแบบ จำหน่ายและติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าและตรวจวัดจัดการสภาพแวดล้อม รวมถึงผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่ครอบคลุมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานขยะ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวม  2,000 ล้านบาท เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ และ/หรือ  ผู้ลงทุนรายใหญ่ และ/หรือ นักลงทุนรายย่อย

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปรุกขยายพอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งภาคพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน  2 โครงการ รวมเงินลงทุน 425 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 5 MW ในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองสระแก้ว จำกัด ในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 212.50 ล้านบาท และโครงการ    พลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ในจังหวัดสมุทรสงคราม กำลังการผลิต 5 MW อีก 212.50 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในสิ้นปีนี้

“เรามีแผนรุกโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกครั้งใหญ่ จึงต้องการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้/ตั๋วแลกเงิน  รองรับแผนการรุกขยายธุรกิจ ที่ให้ความสนใจลงทุนทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จึงได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2559 นี้เพื่อขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น” นายพระนาย กล่าว

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass) จำนวน 1 โรง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 12,600,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงินจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ มีสัดส่วนการลงทุนใน เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี เพิ่มเป็นร้อยละ 100 จากเดิมมีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 55 โดยโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งนี้ ใช้เปลือกไม้เศษไม้และพืชพลังงานเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 8 MW ที่ได้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้ากับ กฟภ. เชิงพาณิชย์แล้ว (COD) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการขอเปลี่ยนการขายไฟในรูปแบบ Adder ไปเป็น Feed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดในอัตราขายไฟอยู่ที่ 4.54 บาท และโครงการนี้ยังได้รับการส่งเสริมจาก BOI อีกด้วย

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทโรงไฟฟ้าสระยายโสม จำกัด ผู้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพจากน้ำเสีย (Biogas) กับ กฟภ. จำนวน 4.6 MW ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสัญญาซื้อขายไฟดังกล่าวจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในเดือนมิถุนายน 2560 จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 10,000 หุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 110 ล้านบาท พร้อมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟภ. ตามสัญญา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีก 277 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการ 387 ล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC กล่าวว่า จากแผนงานการรุกธุรกิจครั้งใหญ่ในครั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายต้องการขยายธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกทุกรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพ โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยตั้งเป้า 3 ปี หรือภายในปี 2561 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 45.3 MW และทำรายได้จากการขายไฟฟ้ามากกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่ขนาดสินทรัพย์ก็มีอัตราเติบโตโดดเด่นเช่นกัน โดยสิ้นปี 2559 จะมีสินทรัพย์รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 2560