ไมค์กรุ๊ป พัทยา วางแผนลงทุนช่วง 4-5 ปีนี้ขยายพอร์ตธุรกิจโรงแรมเพิ่มครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวที่มีสนามบิน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ชี้มีทั้งลงทุนเอง และการเข้าไปร่วมลงทุนกับท้องถิ่น พร้อมจัดทัพโครงสร้างบริหาร เตรียมสร้างเชนใหม่ พร้อมรุกปักธงแบรนด์เซ็กเมนต์ใหม่ ระดับ 3 ดาวพลัส รับพฤติกรรมนักเดินทางเปลี่ยน หลังการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยแล้วเสร็จ
[caption id="attachment_86150" align="aligncenter" width="335"]
สุรัตน์ เมฆะวรากุล
กรรมการผู้จัดการไมค์ กรุ๊ป พัทยา[/caption]
นายสุรัตน์ เมฆะวรากุล กรรมการผู้จัดการไมค์ กรุ๊ป พัทยา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในขณะนี้ไมค์ กรุ๊ป อยู่ระหว่างวางแผนขยายธุรกิจในช่วง 4-5 ปีนี้ โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดโครงสร้างการบริหารงานในธุรกิจโรงแรมใหม่ ด้วยการสร้างเชนขึ้นมาบริหารโรงแรมในเครือที่จะครอบคลุมแบรนด์บริหารโรงแรมใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 5 ดาว ระดับ 4 ดาว และระดับ 3 ดาวพลัส ซึ่งจะเซ็กเมนต์ใหม่ที่ไมค์ กรุ๊ป กำลังจะพัฒนาและยกระดับโรงแรม 3 ดาวที่มีอยู่เป็น 3 ดาวพลัส เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย โดยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกชื่อเชนที่เหมาะสม เบื้องต้นอาจใช้ชื่อว่า เชนโรงแรมในเครือ"คอสโม"
ทั้งนี้ปัจจุบันในส่วนของธุรกิจโรงแรมทางไมค์ กรุ๊ป มีโรงแรมจำนวน 6 แห่ง รวมกว่า 1,000 ห้องในพัทยา ได้แก่ เคปดารา พัทยา ,บาลอน บีช,ไมค์ โฮเต็ล,ไมค์ บีช,ไมค์ ออคิด ,ไมค์ การ์เด้นท์ และไมค์เพลส ที่กรุงเทพฯ 1 แห่ง ซึ่งมีทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว 4 ดาว และ 3 ดาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ไมค์ กรุ๊ป มองถึงการขยายธุรกิจโรงแรมไปยังภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าทิศทางการท่องเที่ยวของไทย นับวันจะยิ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นของประเทศไทย ประกอบกับธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจด้านบริการ ที่มองว่าผู้ประกอบการที่มีทักษะและอยู่ในธุรกิจนี้มานาน จะสามารถบริหารโรงแรมให้ไปได้ดี แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ อย่างค้าปลีก ที่กลุ่มบริษัทใหญ่เท่านั้นที่จะผูกขาดตลาดได้
สำหรับแผนการสร้างโรงแรมใหม่ จะมี 2 รูปแบบที่วางไว้ คือ 1.การสร้างโรงแรมใหม่ซึ่งเป็นการลงทุนของไมค์ กรุ๊ป และ 2.การเข้าไปร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น เพื่อเข้าไปร่วมพัฒนาโรงแรมใหม่ ที่จะเน้นมองเมืองที่มีสนามบิน เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งการลงทุนใหม่ของไมค์ กรุ๊ปเอง 100% ที่สรุปเรื่องของงบลงทุนแล้วในขณะนี้ จะมีการสร้างโรงแรมใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ สร้างโรงแรมเพิ่มที่พัทยา 1 แห่ง และกรุงเทพฯอีก 1 แห่ง และแผนการปรับปรุงโรงแรม 3 ดาวที่มีอยู่เป็น 3 ดาวพลัส เบ็ดเสร็จแล้วโครงการต่างๆที่สรุปแผนลงทุนแล้ว ในช่วง 2 ปีนี้ (ปี2560-2561) จะใช้งบลงทุนราว 1 ,000 ล้านบาท
โดยการลงทุนโรงแรมใหม่ที่พัทยา เป็นระดับ 4 ดาว จะสร้างอยู่บนอาคารเดียวกับไมค์ ช็อปปิ้ง มอลล์ จำนวน 180 ห้อง บนพื้นที่ 5 ชั้น เน้นห้องขนาดใหญ่และซีวิวทุกห้อง มูลค่าการลงทุนราว 500 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในราวปลายปีนี้ เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการปรับปรุง(รีโนเวต)ในส่วนของช็อปปิ้ง มอลล์ไปแล้วเกือบ 200 ล้านบาท
"เดิมการลงทุนในพื้นที่ที่เหลืออยู่ของไมค์ ช็อปปิ้ง มอลล์ ตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะทำเป็นส่วนของอาคารสำนักงาน แต่จากแนวโน้มของโลกดิจิตอลที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน อยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ เราจึงมองว่าการปรับแผนมาทำโรงแรม จะรองรับกับตลาดได้มากกว่า เพราะต่อไปการท่องเที่ยวของพัทยาจะเติบโตอย่างมาก จากอานิสงส์ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะมีโครงการลงทุนพื้นฐาน ที่จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกในหลายโครงการ อาทิ การเพิ่มศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา จาก 3 ล้านคน เป็น 5 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้า การปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อเป็นครูซ เทอร์มินัล รองรับเรือสำราญจากต่างประเทศ เป็นต้น"
ขณะที่การลงทุนของไมค์กรุ๊ป อีกแห่งที่กรุงเทพฯ จะอยู่บนถนนสุขุมวิท ซอย 68 บนพื้นที่ 1 ไร่ครึ่ง เป็นโรงแรมที่จะทำเป็นโรงแรมต้นแบบของการสร้างเชนที่ไมค์ กรุ๊ป มีแผนจะพัฒนาอยู่ รวมถึงการบุกเบิกธุรกิจโรงแรม 3 ดาวพลัส ซึ่งจะสร้างห้องพักขนาด 170 ห้อง มูลค่าการลงทุนราว 350 ล้านบาท โดยน่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างในต้นปีหน้า เพื่อให้แล้วเสร็จช่วงต้นปี 2561 รวมทั้งในช่วง 4 ปีนี้ ไมค์ กรุ๊ป ยังมีแผนจะรีโนเวตโรงแรมที่เป็นระดับ 3 ดาวให้เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวพลัสทั้งหมด วางงบไว้ราว 70 ล้านบาทต่อปี
ส่วนการเข้าไปร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น เพื่อเข้าไปร่วมพัฒนาโรงแรมใหม่นั้น เรามองการร่วมลงทุนทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาวด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนโรงแรมในระดับ 3 ดาวครึ่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับโลเกชัน โดยในขณะนี้มีเจรจาอยู่แล้ว คือ การเข้าไปร่วมลงทุนโรงแรมในภูเก็ต ขนาด 180 ห้อง คาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 3 ปีข้างหน้า และมีการหารือร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่นอีก 3-4 แห่งในขณะนี้ โดยมองในจุดที่มีสนามบินทุกแห่งในไทย ซึ่งในจังหวัดเล็กๆ มองไว้ที่โรงแรมขนาด 80 ห้อง ส่วนในจังหวัดใหญ่ๆ มองไว้ที่ขนาด 170-180 ห้อง เนื่องจากมองว่าต่อไปเมื่อประเทศไทยเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้า เน็ตเวิร์กการเข้าถึงของผู้โดยสารของสนามบินต่างๆที่เพิ่มขึ้น ต่อไปการเดินทางของนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาเที่ยวได้สั้นลง การเลือกพักโรงแรมจึงต้องการของดีในราคาที่รับได้ ไม่ใช่ของถูก ทำให้เราจึงมองการปักธงการขยายโรงแรมในระดับ 3 ดาวครึ่ง
" การขยายธุรกิจโรงแรมภายใต้เชนโรงแรม ที่เรากำลังพัฒนานั้น เราจะไม่เน้นการรับบริหาร แต่มองว่าจะเข้าไปร่วมลงทุนมากกว่า ซึ่งอาจมีทั้งการสร้างใหม่ หรือการเข้าไปร่วมลงทุนและปรับปรุงโรงแรมที่มีอยู่เดิม เพราะในฐานะที่ผมก็เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม เข้าใจถึงหัวอกเจ้าของธุรกิจ ที่การจะดำเนินการอย่างไรก็อยากให้เกิดความยุติธรรม และรับได้ เราจึงมองที่จะเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อพัฒนา ไม่ใช่เพียงแต่ให้ธุรกิจต้องมาจ่ายค่ารับบริหารโรงแรม เพราะต้องยอมรับว่าโรงแรมที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก 80-180 ห้อง มีข้อจำกัดเรื่องของการใช้เชนบริหาร เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง เกินกว่าจะอยู่ได้ ดังนั้นการสร้างเชนของเราขึ้นมา และเข้าไปร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในการพัฒนาจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ทั้ง 2 ฝ่าย" นายสุรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559