เกษตรฯแฉเล่ห์โกงพ่อค้าเปลี่ยนรูปแบบผลิตสารเคมีเถื่อน

22 ส.ค. 2559 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2559 | 13:41 น.
กรมวิชาการเกษตรแฉกลโกงพ่อค้าปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตสารเคมีเถื่อน ใช้รถบรรทุกเคลื่อนที่ลักลอบผสมสารเคมีป้อนร้านค้าโดยตรง ล่าสุดหนีไม่รอดสายตาสารวัตรเกษตรตามจับได้คารังที่เมืองราชบุรี สั่งล้างบางผู้ประกอบธุรกิจสีเทาใน 3 จว.

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การที่สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด รวมถึงร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมสถานที่ผลิตปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ประกอบการบางรายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการผลิต เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ โดยพบว่า ผู้ประกอบการได้ใช้รถบรรทุกขนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งชนิดผง ชนิดน้ำ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ผสม ขับตระเวนเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ แล้วลักลอบผสมวัตถุอันตรายบนรถและบรรจุขวดส่งขายให้กับร้านค้าโดยตรง ซึ่งไม่มั่นใจว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ลักลอบผลิตนั้นมีคุณภาพและได้มาตรฐานหรือไม่

ล่าสุดสารวัตรเกษตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) ได้ตรวจพบขบวนการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จึงเฝ้าติดตามไปยังแหล่งที่มาของรถเร่ลักลอบผสมสารเคมี และได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบบริษัท โรกีต้า จำกัด เลขที่ 89 หมู่ 5 ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของรถเร่ พบว่า บริษัทดังกล่าวมีการผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน

“เจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดของกลางเป็นวัตถุอันตรายชนิดน้ำ ปริมาณ 1,168 ลิตร และชนิดผง จำนวน 24.5 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 357,000 บาท และได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด กรณีที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท และกรณีที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรติดตามเบาะแสผู้ประกอบธุรกิจปัจจัยการผลิตแบบไม่โปร่งใสหรือธุรกิจสีเทา ซึ่งขึ้นแบล็กลิสต์ไว้  5 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา และราชบุรี โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีสารเคมีเกษตรเก่าเก็บค้างอยู่ในสต็อกจำนวนมาก ทั้งยังมีสารเคมีเกษตรที่มีเลขทะเบียนไม่ถูกต้อง และสารเคมีด้อยคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการมักอ้างว่า เป็นสารเคมีที่เรียกคืนจากร้านค้านำมาเก็บเอาไว้ไม่ได้จำหน่าย แต่บรรจุขวดพร้อมจำหน่าย กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาและฉวยโอกาสผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน หรือวัตถุอันตรายปลอมออกมาขายในท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่เกษตรกรมีความต้องการใช้มากและมีราคาดี พ่อค้ากลุ่มนี้จะผลิตสินค้าปลอมออกมาขายทันที

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 สารวัตรเกษตรได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จำนวน 24 ราย พร้อมยึดของกลางทั้งหมดกว่า 1,367.01 ตัน มูลค่ารวมกว่า 50.25 ล้านบาท